Wednesday 14 November 2018

สาปอสุรา ภาคหลัก โดยละอองฝน

ยิ่งกว่าบล็อก เพราะเป็นการวิเคราะห์ทำรายงาน // มีสปอยล์และชี้นำไม่ต้องสงสัย

-โดยรวม-
เริ่มแรกที่อ่านจากชื่อเรื่อง ก็คาดหมายว่าจะเป็นเรื่องแฟนตาซีที่มีตัวละครเหนือธรรมชาติและฉากหลังที่เป็นโลกในจินตนาการไม่ว่าจะเป็นเทพปกรณัมไทยหรือแม้กระทั่งตะวันตกก็ตาม แต่พอมาอ่านจริงจากบทนำไปสู่บทแรกก็ถูกกระชากจากดินแดนปกรณัมของเทพและเหล่าอสูรยุคโบราณไปเป็น urban fantasy ที่มีฉากเป็นกึ่งแนวอนาคต  และความขัดแย้งนี้ก็ทำให้หนังสือเรื่องนี้โดดเด่นด้วยการสร้างโลกคู่ขนานที่ตรงข้ามกัน

หนังสือเริ่มบทนำให้เห็นถึงเสี้ยวเหตุการณ์ขณะเจ้าชายอสูรถูกลงโทษ และการยืนกรานถึงความบริสุทธิ์ของตนก็ทิ้งความคลุมเครือสงสัยให้ผู้อ่าน ดังนั้นแล้ว ก็เป็นการจับต้นชนปลายด้วยการเปิดฉากให้เห็นตัวเอกกำลังทรมานจากโรคประหลาดเรื้อรังในคืนที่ไร้แสงดวงจันทร์ก็เป็นการโยงความสัมพันธ์ของเหตุการณ์ในอดีตและปัจจุบันขึ้นมา หากก็ถึงไว้แค่นั้น แล้วเริ่มต้นด้วยชีวิตในโลกปัจจุบันที่ต้องทำงานเร่งรีบของ “มันตรา” นายทหารแผนที่หนุ่มที่โดดเดี่ยว และดูเคร่งขรึมเย็นชา

เริ่มช่วงแรกเป็นการปูพื้นถึงหน้าที่และความรับผิดชอบของร้อยเอกมันตราในฐานะรองผู้บังคับการกองเขตแดน และภารกิจพิเศษที่จะต้องไปปักปันเขตแดนที่กำลังเป็นประเด็นละเอียดอ่อนทางการเมืองระหว่างประเทศ ร่วมกับเจ้าหน้าที่จากอีกรัฐหนึ่ง ซึ่งเมื่อเดินทางลงพื้นที่ไปแล้ว ก็ทำให้ต้องทำงานร่วมกับ “พันโทอคิน” จากหน่วยรบพิเศษของกองทัพ ที่ดูเหมือนจะไม่ชอบหน้ามันตราเป็นพิเศษ พร้อมกับที่ปริศนาเกี่ยวกับตำนานอสูรในอดีตเริ่มมากวนใจมันตรา จนกระทั่งมีความไม่สงบเกิดขึ้น และสิ่งที่ได้เห็นก็เป็นการเริ่มต้นการเปิดสลักความทรงจำให้รำลึกถึงตัวตนในอดีตและหน้าที่ในชาตินี้ของเจ้าตัว

ส่วนตัวเอง จัดหนังสือเล่มนี้ค่อนอยู่ในหมวด urban fantasy มากกว่าจะเป็น paranormal romance เต็มตัว ก็เพราะความสำคัญของตัวละครลงน้ำหนักไปที่มันตราเยอะ (หรืออย่างน้อยที่สุดก็เป็น urban fantasy ในเล่มหนึ่ง และเพิ่มดีกรีมาเป็น paranormal romance ในเล่ม 2) ทั้งในการบรรยายชีวิตประจำวันและความรู้สึกนึกคิด จนกระทั่งเกือบพูดได้ว่าทัศนคติของอคินก็ทำผ่านมุมมองของมันตราด้วยซ้ำ (จนมาตอนหลังที่ความสัมพันธ์ทั้งคู่เริ่มขยับหมุน และมีความนึกคิดของอคินแทรกมาบ้าง) และที่ยิ่งไปกว่านั้น ก็คือการอ่านสาปอสุราไม่ได้อ่านในเชิงรับรู้ความสัมพันธ์ระหว่างคนคู่นี้ แต่เป็นการอ่านเพื่อรับรู้และเอาใจช่วยตัวละครหลักอย่างมันตราในการบรรลุหน้าที่ของตัวเอง และตอบคำถามพร้อมหาความจริงให้ได้ถึงเหตุการณ์ในอดีต และแก้คำสาปที่มีกับเผ่าพันธุ์อสูรเป็นหลัก

นอกจากนี้ ฉากหลังที่มีปัญหาข้อพิพาทการการเมืองระหว่างสองรัฐที่ซึ่งต้องปักปันเขตแดนเข้ามาเกี่ยวข้องก็เป็นองค์ประกอบใหญ่ที่เพิ่มมิติให้กับเรื่อง แม้จะเสมือนว่าคามาร์และซายาเริ่มต้นเจรจาด้วยความปรองดองและถ้อยทีถ้อยอาศัย หากผลประโยชน์ที่มีอยู่ชัดจากแหล่งพลังงานสุดท้าย และข้อบาดหมางกันมายาวนาน ก็เหมือนทำให้ทั้งสองฝ่ายเดินอยู่บนแผ่นน้ำแข็งบางๆ แม้การสำรวจพื้นที่จะเป็นการจุดประเด็นและเริ่มดำเนินเนื้อเรื่อง แต่เมื่อมีการก่อกวนจากภายนอกเข้ามาแทรกก็เกิดความอ่อนไหวที่ช่วยเร่งเร้าความตึงเครียดและเพิ่มความเข้มข้นในการดำเนินเรื่องของสาปอสุราไปด้วย (แม้ว่าสุดท้ายแล้วความขัดแย้งที่เกิดเป็นไปโดยมีการแทรกแซงจากเหล่าอสูรคลั่งเผ่าพันธุ์ในชาติบรรพกาล เพื่อให้บรรลุอุดมการณ์และความเชื่อของพวกตนก็ตาม) — ชอบการหาข้อมูลประกอบเรื่องและการดำเนินเรื่องของนักเขียนที่เรียบเนียนจนเสมือนได้เข้าไปนั่งอยู่ในเหตุการณ์จริง ตั้งแต่เริ่มแถลงข่าวเพื่อเปิดการเจรจา การลงพื้นที่ทำภารกิจของทีมสำรวจ ไปจนถึงการคุกคามจากมือที่มองไม่เห็นเพื่อล้มเลิกความพยายามร่วมของเรื่องในช่วงนี้

-มันตรา-
อย่างที่บอกว่ามันตราถูกบรรยายให้มีบุคลิกโดดเดี่ยว เย็นชา แต่ก็ไม่น่าแปลกใจอะไรถ้าดูจากการเติบโตในชาตินี้ การที่พี่ชายเพียงคนเดียวถูกรับไปเลี้ยงและเติบโตมาตามลำพังในสถานเลี้ยงเด็กกำพร้า และต้องปากกัดตีบถีบดิ้นรนให้ตัวเองเลื่อนชั้นทางสังคมให้ได้ผ่านการศึกษาและการทำงาน ขณะเดียวกันปัญหาและข่าวลือที่มีจากท่าทีของพี่ชายก็ยิ่งทำให้เจ้าตัวยิ่งแปลกแยกจากคนรอบข้าง มันตราจริงจังและมุ่งมั่นก็เพราะต้องการพิสูจน์ตัวเองให้สังคมรับรู้ความสามารถที่เป็นจริง และใช้งานเป็นการแสดงออกต่อสังคม แต่อีกทางก็ใช้ความสันโดษและเย็นชาขึ้นมาเป็นเกราะกำบังตัวเองไว้จากคนอื่น โดยเฉพาะเมื่อการอยู่คนเดียวเจ็บปวดน้อยกว่าการสร้างความผูกพันกับคนอื่น และให้ความรู้สึกยึดติดกับคนเหล่านั้นมาทำร้ายตัวเองได้ โดยปกปิดความเหงาและอ้างว้างไว้ข้างใน

หากความนิ่งเย็นไม่หวั่นไหวนี้ก็พังทลายลงเมื่อเจอ อคิน คนคนเดียวที่มันตราใส่ใจและอยากเข้าใกล้ แม้จะรู้ว่าอคินโกรธและเกลียดตัวเองขนาดไหนก็ตาม ตอนแรกความหวั่นไหวไม่รู้ที่มาที่ไปนี้ทำให้แค่มันตราอยากระวังท่าทีตัวเองและรักษาศักดิ์ศรีไว้ได้เท่านั้น หากแต่เมื่อรำลึกอดีตได้ขึ้นมา ความรู้สึกรักใคร่ผูกพันที่มีมาแต่ครั้งเยาว์วัยก็ทำให้ควบคุมความรู้สึกของตัวเองไม่ได้ กลายเป็นการตามตื้ออคินเพื่อเว้าวอนให้ฝ่ายนั้นใจอ่อน ซึ่งเมื่อเจอฉากเช่นนี้ครั้งแรกก็อยากจะกรีดร้องใส่หน้ามันตราว่าทำไมทำแบบนี้ มันไม่ดี! (สำนวนดรอปไปเพราะนี่คือความรู้สึกจากใจตอนอ่านเห็นมันตราเข้าใกล้อคินในโรงพยาบาล!) ด้วยการขอความรักความเข้าใจจากคนที่เกลียดชังตัวเองที่จะต้องทำให้ทั้งเหนื่อยใจและเสียศักดิ์ศรีขึ้นมา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อถูกอีกฝ่ายดูถูก หากแต่การตื้อและยื้อของมันตราก็ทำให้อคินใจอ่อนลงมาได้ โดยเฉพาะหลังจากสองคนมีความสัมพันธ์ทางกายกันขึ้นมา และการได้อยู่ร่วมกับมันตราก็เปลี่ยนมุมมองและทัศนคติหลายอย่างที่อคินมีกับมันตราไปได้ หากก็ไม่เพียงพอที่จะลบน้ำหนักของหน้าที่ และทำลายความรู้สึกด้านลบที่มีกับมันตราไปจนหมด และความรู้สึกนี้ก็ยิ่งเปราะบางเมื่อความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นอ่อนไหวไปตามสถานการณ์รอบตัว โดยเฉพาะจากการเข้ามามีส่วนร่วมของดารัญด้วย  

บางช่วงตอนอ่านอยากให้มีพระรองที่โดดเด่นขึ้นมาด้วย มากกว่าจะเป็นแค่ “เนวิน” ที่เป็นลูกน้องนิสัยร่าเริงแบบเด็กหนุ่มที่ชื่นชมมันตรา ในแง่ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่เห็นคุณค่าและความสำคัญของมันตรา หรือเป็นตัวเลือกที่เจ้าตัวให้น้ำหนักในใจก็ได้ หากเอาเข้าจริงแล้ว เงื่อนไขของเรื่องก็คือความมั่นคง รักเดียวใจเดียวของมันตราอยู่ดี ที่ไม่ว่าจะถูกทำร้ายความรู้สึกหรือเหยียบย่ำจิตใจขนาดไหนก็ยังพร้อมที่จะยังแน่วแน่ต่อผู้ชายคนเดิมไม่มีเปลี่ยน – ซึ่งในแง่หนึ่ง จริงๆ แล้วการรักอคินนี้ตั้งแต่ไหนแต่ไรมาก็เป็นการทำร้ายตัวเองของมันตรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคิดว่ากลายเป็นจุดอ่อนที่ทำให้ฝ่ายตรงข้ามใช้เล่นงานมันตราจนมาอยู่ในสภาพอย่างในปัจจุบันได้

ในอดีต ความผิดพลาดที่ทำร้ายเจ้าชายอสูรอย่างมันตราที่สุดก็คือการเชื่อมั่นในความคิดของตนเอง และพร้อมที่จะมุ่งไปข้างหน้าโดยไม่ดูสถานการณ์โดยรอบ แม้ว่าการสังเกตเพิ่มขึ้นจะทำให้ให้ประโยชน์จากสิ่งที่มีอยู่ในมือเพิ่มได้ก็ตาม แต่ถึงกระนั้น จุดอ่อนของสถานะเจ้าชายเลือดบริสุทธ์ก็เป็นตัวเร่งความผิดพลาดนี้ด้วย เพราะความสูงส่งของตำแหน่ง และการเลี้ยงดูของมารดา ก็ทำให้ไม่มีผู้ใด นอกจากอคิน กล้าแย้งเจ้าชายมันตรา จนเจ้าตัวทำตามใจตัวเองอย่างเต็มที่ หากแต่ชาตินี้รวมถึงหลายร้อยชาติที่ผ่านมา ความยากลำบาก และอุปสรรคทั้งหลายก็หล่อหลอมให้มันตราเติบโตขึ้น เป็นผู้ใหญ่สุขุม มีความรับผิดชอบ และรู้คิดเข้าใจโลกและสถานการณ์รอบตัวโดยไม่เอาตัวเองเป็นที่ตั้ง และขณะเดียวกันก็รู้ว่าจะใช้ประโยชน์จากสถานการณ์ที่เป็นอยู่ได้อย่างไร ฉากปะทะคารมกับนายทหารจากต่างรัฐอธิบายความเป็นจริงนี้ได้ดีที่สุด เมื่อฝ่ายนั้นโกรธจากการถูกพูดแย้งด้วยหลักฐานของมันตราจนควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้จนจะพลั้งมือทำร้ายมันตรา และทั้งสองฝ่ายต่างก็พร้อมจะต่อสู้กันอยู่แล้ว แต่คำพูดของมันตราที่ว่าถ้ามีเรื่องก็จะลามไปถึงสองรัฐ แทนที่จะเป็นแค่คนสองคนชกต่อยกัน ทำให้หยุดยั้งสถานการณ์ที่เหมือนจะเกินควบคุมไว้ได้ (บทที่ 9) นอกจากนี้ การเติบโตในสถานะที่ตัวเองไม่ใช่ผู้ที่แข็งแกร่งหรือมีอำนาจมากที่สุดก็ทำให้มันตรารับรู้และเข้าใจสถานการณ์และความเป็นไปรอบด้านได้ แต่เลือกที่จะนิ่งเงียบเสมือนไม่เข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นก็มี อาทิเช่น ฉากที่เจ้าตัวพูดคุยกับอาร์มินแล้ววิเคราะห์ถึงความเป็นไปได้เบื้องหลัง เพราะไว้ใจผู้บังคับบัญชาตัวเอง แต่ไม่เคยพูดถึงสิ่งเหล่านี้ที่อื่น (บทที่ 15)

รักความสามารถในการวิเคราะห์ใช้หลักตรรกะเหตุผลของมันตราอีกอย่างหนึ่ง ในชาตินี้ ความสุขุมเยือกเย็นก็ทำให้มันตราใช้สมองมากกว่าอารมณ์ ไม่ว่าจะเป็นการวิเคราะห์ถึงความเป็นไปได้ในการตามหาเศษเสี้ยววิญญาณ และคิดไปถึงการผูกพันกับสิ่งของ ของใช้นอกเหนือจากแค่สถานที่ (บทที่ 25) ซึ่งสุดท้ายแล้วก็ทำให้เกิดเป็นเบาะแสจนตามรอยแหวนที่มีส่วนเสี้ยววิญญาณมากสุดจนนำไปสู่การคืนร่างของราชินีตุลยา และคลี่คลายเรื่อง จนลบล้างคำสาปได้ หรือแม้กระทั่งเมื่อมีเรื่องกับอคิน แม้จะอารมณ์ไม่พอใจอยู่ แต่เมื่อฝ่ายนั้นพูดเป็นงานเป็นการก็พร้อมจะเปลี่ยนโหมดไปการวิเคราะห์หาคำตอบได้ แท้จริงแล้วความรับผิดชอบและการมุ่งมั่นในการทำงานของมันตรา รวมกับความผูกพันกับผู้ร่วมงานในตอนที่มันตราออกจากโรงพยาบาลแล้วไปเยี่ยมพันโทอาร์มินผู้เป็นผู้บังคับบัญชาก็ทำให้อคินแปลกใจได้ ทั้งในแง่ที่ออกจากโรงพยาบาลไปเยี่ยมผู้บังคับบัญชา และคุยกับตัวเองเรื่องงานอย่างจริงจังโดยไม่มีความหงุดหงิดจากการทะเลาะกันก่อนหน้า (บทที่ 21) หรือการที่มีตัวตนเป็นมนุษย์ ก็ทำให้เกิดมุมมองที่ต่างออกไปเมื่อหาเหตุผลถึงความเป็นไปได้ที่นเรวัติจะมาอยู่ในโลกมนุษย์ (บทที่ 30)

อีกอย่างหนึ่งก็คือ หลงรักความพยายามและมุ่งมั่นที่นำไปสู่ความสามารถในการดูแลปกป้องตัวเอง และรวมไปถึงการสู้ในแบบของมันตราเองด้วย สำหรับโครงเรื่องที่มีการกำหนดบทบาทผู้พิทักษ์ที่มีอิทธิฤทธิ์และอำนาจเหนือธรรมชาติแล้ว ผู้ที่อยู่ภายใต้การคุ้มครองมักจะอ่อนแอ และต้องพึ่งพาผู้พิทักษ์เสมอ หากแต่มันตรากลับผิดแผกไปจากนั้น สถานการณ์คุกคามถึงชีวิตที่มีอคินออกโรงมาช่วยมันตราถึงสองครั้งสองครา (ทั้งการโจมตีแคมป์ภารกิจสำรวจเขตแดนและเหตุการณ์วางระเบิด) เหมือนจะย้ำความไร้กำลังในฐานะมนุษย์ของมันตรา แต่ฉากที่มันตราสังเกตถึงสิ่งผิดปกติในที่พักของตัวเองและคว้าปืนมาตอบโต้กับผู้บุกรุกได้ (บทที่ 29) สังเกตเหตุการณ์รอบตัวจนเห็นตัวผู้ร้าย (บทที่ 21 และบทที่  23) หรือแม้แต่ฉากที่ไปเผชิญหน้านเรวัติพร้อมกับอคิน และพยายามสู้ในรูปแบบของตัวเองเพื่อเปลี่ยนวิถีการบินของเครื่องบินรบและแย่งชิงแหวนไพลินคืนมา (บทที่ 37) ต่างแสดงให้เห็นไหวพริบและสติปัญญาของเจ้าตัว

ทั้งนี้ ควรจะนับถือความรักเด็ดเดี่ยวของมันตราด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่กล้าทุ่มหมดหน้าตัก และละทิ้งศักดิ์ศรี เพื่อขอความรักจากอคิน โดยเฉพาะเมื่อกล้าที่จะเป็นฝ่ายไล่ตาม และได้ความรักของอีกฝ่ายมาจริง แต่ในฐานะคนที่ค่อนไปทางรักตัวเอง ก็เลยอยากจะเปลี่ยนเป็นตำหนิที่ให้อีกฝ่ายมีอิทธิพลและอำนาจเหนือตัวเองได้ (แต่ก็ให้อภัยก็แล้วกันที่ตัดจบแล้วพลิกเกมได้ตอนหลัง)

“อยากจะบอกมันตราว่าความรักไม่ใช่ทุกอย่างง! และการประชดจะทำให้สถานการณ์ยิ่งแย่ลง! มีอะไรขอให้พูดค่ะ!”

-อคิน-
ความรู้สึกที่มีต่ออคินผิดไปจากความรู้สึกบวกต่อมันตราเยอะ โดยเฉพาะหลังการอ่านล่าสุดก่อนมาเขียนบันทึกจริงจัง จะให้พูดแบบเบาและถนอมน้ำใจที่สุดก็คือ “หมั่นไส้” (แต่ถ้าพูดให้ออกจากใจก็อาจจะเป็น “ไปตายซะ” / “ถ้ามีพระเอกคนอื่น ..” / “แกมันไม่คู่ควร” ก็ได้ — แต่ล่าสุดฟังเพลงส่วนความรู้สึกอคินวนอยู่ใจอ่อนลงมานิดนึง เฮ้อ พูดว่า “ก็ทำดีชดไป” ด้วยก็แล้วกัน) ไม่ได้รู้สึกว่าอคินเป็นพระเอกของเรื่อง หากแต่เป็นคนที่มันตรารักมากกว่า (หรือเลื่อนมาเป็นคนรักของมันตราในตอนจบ) เพราะทัศนคติและท่าทีที่อคินมีต่อมันตราไม่น่ารักมากๆ ถึงขั้นที่เรียกว่าน่ารังเกียจด้วยซ้ำไป เริ่มตั้งแต่การดูถูก เหยียดหยามทุกครั้งที่ทำได้จนไปถึงการเผลอทำร้ายร่างกายอย่างบีบคอ (ที่ถ้าไม่มีดารัญโทรศัพท์มาขัดก็อาจเป็นการฆ่ามันตราไปแล้ว) ซึ่งเอาเข้าจริง ตั้งแต่ครั้งอดีต ตัวร้ายอย่างดารัญไม่เคยจะทำร้ายมันตราได้มากเท่ากับที่อคินทำเสียด้วย คนที่เจ้าตัวรักและใส่ใจต่างหากที่ทำให้เจ็บปวดได้มากที่สุด และในกรณีของมันตราก็รวมไปถึงการเกิด second-choice scar – แผลเป็นในใจจากการเป็นตัวเลือกที่สอง –  ด้วย เพราะหลายครั้งแล้วที่อคินรับปากและให้คำสัญญาว่าจะให้ปกป้องดูแลมันตรา หากในที่สุดมันตราก็กลายเป็นเพียงตัวเลือกที่สองที่อยู่รองจากดารัญเท่านั้น

นอกจากนี้ สิ่งที่อยากจะพูดจริงจังอีกอย่างก็คือความบกพร่องระหว่างปฎิบัติหน้าที่ของอคิน แม้ว่าอคินจะถูกเลือกจากมหาเทพให้ทำหน้าที่เป็นผู้เฝ้ามองจนมาเป็นผู้ปกปักมันตรา ปฎิเสธไม่ได้ว่าอคินทำหน้าที่ด้วยอคติ ที่มีทั้งโกรธและเกลียดมันตราเป็นตัวนำอารมณ์มาตลอด อย่างในชาตินี้ที่เงื่อนไขการเกิดใหม่และยังไม่สามารถรับรู้ถึงอดีตและหน้าที่ตัวเองทำให้มันตราเอ่ยปากถามอคินเพื่อให้ได้คำตอบที่ชัดเจนโดยตรง แต่อคินกลับใช้การประชดประชันและเสียดสีเพื่อยอกย้อนมันตราให้เสียหน้าและรู้สึกผิดแทนที่จะตอบคำถามด้วยดี ซึ่งถ้าจะมองว่าหลังจากผ่านมาหลายร้อยชาติ (และก็คือหลายพันปี) ความรู้สึกของอคินก็ยังรุนแรงอยู่มาก ยิ่งทำให้คิดว่าการทำหน้าที่ในช่วงแรกของอคินนั้นจะดึงอารมณ์และความรู้สึกมาเป็นตัวนำจนตัวเองเป็นฝ่ายทำร้ายและถ่วงการทำหน้าที่ของมันตราไม่ว่าจะเป็นทั้งทางตรงและทางอ้อมหรือไม่ โดยเฉพาะเมื่อมีดารัญมาเป็นตัวแปร ทั้งในการที่พี่ชายต่างแม่มีส่วนขัดขวางให้การตามหาเสี้ยววิญญาณล่าช้าออกมาจนเนิ่นนานเช่นนี้ และการที่อคินอาจจะเลือกให้ความสำคัญกับดารัญมากกว่าจะห่วงเรื่องความปลอดภัยของมันตรา

รู้สึกเหลือเชื่ออยู่บ้างว่า อคินไม่ได้รับรู้ตัวตนของนายพลเรวัติในฐานะอสูรมาก่อน โดยเฉพาะเมื่อมองว่า ในเรื่องนี้อสูรที่มาเกิดใหม่เป็นคน (หรือแอบอ้าง/ กึ่งเป็นคน) มีชื่อที่แทบจะไม่ผิดเพี้ยนไปจากในฐานะตัวตนอสูร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมันตรามีชื่อและรูปลักษณ์ภายนอกที่แทบจะไม่ผิดเพี้ยนไปจากเจ้าชายอสูรมันตราเลย ซึ่งในแง่ที่อคินต้องไปหาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนจะพามันตราไปชิงแหวนไพลินมาก็ทำให้อคินทำหน้าที่ผิดพลาดไปมาก และยิ่งผิดพลาดเมื่อมองว่าทำให้มันตราที่อยู่ใต้การจับตามองและคุ้มครองของอคินบาดเจ็บสาหัสด้วย (หรือถ้าจะจับผิดมากๆ จะไล่ตั้งแต่ที่เห็นไออสูรแต่ว่าที่มาไม่เจอ หรือการไม่รับรู้เมื่อมันตราถูกโจมตีที่คอนโดด้วย โฮะโฮะ)

ทั้งที่มองว่าอคินเป็นผู้ที่สามารถแบ่งความรู้สึกกับหน้าที่ความรับผิดชอบของตัวเองได้ดี แต่ในกรณีนี้กลายเป็นว่าความรู้สึกมาอยู่เหนือการควบคุมตัวเองและการใช้เหตุผลไป แม้จะมองว่าเรื่องของมันตราก็ทำให้อคินรวนได้ ในแง่ว่าทำให้ควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่อยู่ เพราะว่าความรู้สึกผูกพันตั้งแต่เด็ก และความรู้สึกละเอียดอ่อนที่มี ก็ยิ่งทำให้ความผิดหวังเสียใจต่อพฤติกรรมมันตราในครั้งอดีตมาเกาะกุมจิตใจมาถึงในปัจจุบัน ทำให้เลือกที่จะใช้ความเกลียดชังและไม่พอใจมากดความรู้สึกอื่นไปแทน

ทั้งนี้ ไม่ว่าความรู้สึกจะไปอย่างไร แต่อย่างน้อยการที่ได้ใช้เวลาอยู่ด้วยกัน โดยเฉพาะเมื่อผ่านค่ำคืนด้วยกัน และเงื่อนไขตามที่มันตราตั้งให้ความสัมพันธ์ทางกายนำไปสู่การเป็นคนรักแล้วก็ทำให้อคินเปิดใจรับมันตราเพิ่มขึ้น ยิ่งประกอบไปกับการได้อยู่ร่วมกันจริงๆ  เมื่ออคินเปิดบ้านให้มันตราเข้ามาอยู่ด้วยกันหลังที่พักของมันตราเสียหายจากการบุกรุกของคนร้ายแล้ว ก็ทำให้อคินมองเห็นมันตราอย่างที่เป็นจริงในปัจจุบัน ได้รู้จักมันตราใหม่อีกครั้ง ที่ข้อบกพร่องในฐานะเจ้าชายอสูรไม่ว่าจะเป็นความเย่อหยิ่ง หรือการเอาแต่ใจ ชอบเอาชนะ หายไปตามเงื่อนไขและอุปสรรคความลำบากที่เข้ามาให้เจอตลอดตั้งแต่กลับมาเกิดใช้โทษ มาเป็นมันตราที่เติบโตจนมีภาวะความพร้อมทางอารมณ์มากขึ้น และก็ทำให้อคินเริ่มตกหลุมรักมันตราทีละน้อย และรู้สึกสบายใจมีความสุขที่จะได้อยู่ร่วมกัน

ฉากที่ติดใจที่สุด ก็คือ การที่อคินกลับมาก่อน และเมื่อมันตรากลับถึงบ้าน คำแรกที่อคินทักไปก็คือ “กลับช้านะ” ซึ่งแสดงให้เห็นว่า อคินรอมันตราอยู่ และต่อว่ามันตรากลายๆ ผ่านการซื้ออาหารจำนวนมากที่ทำให้ต้องกลับบ้านล่าช้ากว่าที่ควร ซึ่งตามความเป็นจริงแล้ว อคินกลับมาก่อนเวลาอย่างที่เจ้าตัวกล่าวว่าตารางงานเปลี่ยนแปลง แทนที่จะเป็นมันตราที่ช้าเอง ส่วนตัวคิดว่าฉากนี้เป็นนัยยะบอกความรู้สึกผูกใจอยากใกล้ชิดของอคินที่มีต่อมันตรา และเป็นมากกว่าความสัมพันธ์ทางกายอย่างที่มันตราต้องการมาตลอด และเป็นนัยยะแฝงที่ลึกซึ้งและถูกใจกว่าการเข้ามากอดแนบชิดระหว่างเปิดเพลง และความสัมพันธ์ทางกายหลังจากนั้น (บทที่ 31)

อย่างไรก็ตาม ปัญหาอย่างหนึ่งของอคินก็คือ การเป็นคนถูกไล่ตามมาตลอด (แม้กระทั่งในชาติบรรพกาลที่ความสัมพันธ์ของทั้งคู่อยู่ในเกณฑ์ดี แต่มันตราก็เป็นฝ่ายไปหาอคินเสมอ – แม้ว่าจะเป็นเพราะสถานะที่ทำให้เป็นฝ่ายเข้าไปใกล้ ได้ง่ายกว่าให้นายทหาร (หรือแม่ทัพในภาคหลัง) เป็นฝ่ายเข้าถึงตัวเจ้าชายก็ตามที) และดังนั้น ตัวอคินเองก็เคยชินกับการเป็นผู้อยู่เหนือกว่า และมีอีกฝ่ายมาวอนขอความรักด้วย (ซึ่งถ้าดูจากนิสัยมันตรา และแรงดึงดูดที่อคินมีกับมันตรา ลักษณะเช่นนี้น่าจะมีมาแล้วในชาติก่อนหน้าด้วย แม้จะเป็นระดับที่เบาบาง และซ่อนเร้นกว่าชาตินี้ก็ตามที) เมื่อประกอบกับทิศทางความสัมพันธ์ทั้งของคู่ที่มันตราในฐานะผู้กระทำผิดควรจะอ่อนข้อและยอมจำนนต่ออคินที่มีความถูกต้องมากกว่า ดังนั้นแล้ว เจ้าตัวถึงมีความทะนงตัวอยู่มาก และเชื่อมั่น อืม ใช้คำว่าได้ใจจะดีกว่า ถึงความรักและความแน่วแน่ที่อีกฝ่ายมีต่อตน จนคิดว่าทำอย่างไรก็ได้ และจะเป็นฝ่ายได้รับความรักจากมันตราอยู่เสมอไป และตลอดไป จนถึงขั้นที่ไม่ทะนุถนอมความรู้สึกของมันตรา หรือเห็นค่าความสัมพันธ์ระหว่างกันมากนัก  หรือแม้จะเห็นคุณค่าก็ไม่จัดลำดับสำคัญให้ เพราะสุดท้ายแล้ว เมื่อมีปัญหาวิกฤตใดๆ ขึ้นมา เจ้าตัวก็พร้อมที่เลือกสิ่งที่อยู่ตรงหน้ามากกว่า

ซึ่งในแง่หนึ่งความได้ใจนี้ก็กลับมาทำร้ายอคินเอง เมื่อแม่ทัพอสูรเองไม่เคยแม้แต่จะคิดถึงความเป็นไปได้ที่อีกฝ่ายยอมปล่อยมือและสิ้นสุดอีกอย่างสิ้นเชิง ความตกตะลึงของอคินเมื่อรับรู้ว่ามันตราขอลืมเลือนทุกอย่างและไปเริ่มต้นใหม่ (บทที่ 38) เป็นตัวที่อธิบายความเชื่อของเจ้าตัวได้ดี และในอีกระดับหนึ่ง ความได้ใจและคุ้นเคยกับการเป็นผู้ถูกไล่ตามก็ทำให้ตัวอคินมีปัญหาการออกไล่ตามก่อนไม่เป็นเสียด้วย เพราะแม้จะรู้ว่าอดีตเจ้าชายอสูรขอลืมและเริ่มใหม่ แต่เมื่อยักษ์บื้ออย่างอคินตามหามันตราเจอในภพต่อมา สิ่งที่เจ้าตัวทำก็คือรอให้เจ้าตัวโตแล้วจึงเข้าไปพูดคุยในฐานะอสูร และเมื่ออีกฝ่ายจำไม่ได้ก็อยู่กับความเสียใจและสูญเสีย และเลือกที่จะเฝ้าดูแลปกป้องอยู่ห่างๆ จนกระทั่งชาติสุดท้ายที่เป็นฝ่ายรุกเข้าหาเสียที — คิดเล่นๆ อย่างใจร้ายว่าจะทำอย่างไร ถ้ามันตราไม่ได้เลือกเปิดเพลง Love Me Tender ที่เป็นการส่งสัญญาณให้อคินได้รู้ว่าแท้จริงมันตรายังไม่ลืมทุกอย่างออกไปจนหมดสิ้น และจะเป็นอย่างไร ถ้าอคินกล้าออกไล่ตามไปเรื่อยๆ ตั้งแต่ที่มันตราบอกว่าจำไม่ได้ หรือว่าเปลี่ยนแนวทางเป็นเข้ามาทำความรู้จักตั้งแต่ชาติแรกๆ แทนที่จะให้ยื้อมาอีกเป็นอีกหลายร้อยชาติ อย่างไรก็ตาม ถ้าจะพูดแบบใจร้าย มีความรู้สึกว่าอคินไม่แข็งแกร่ง / อดทนเท่ามันตรา การเจอกันแบบถูกลืม แม้ว่าจะดูทรมาน แต่ถ้าเทียบกับการเจอกันแบบที่อีกฝ่ายไม่ให้ความสำคัญและดูแคลนเหยียดหยามล่ะ?

“อยากจะบอกอคินว่า ถ้านี่ไม่ใช่นิยายรัก แกคงไม่มีโอกาสแบบนี้”

กับ

“จริงๆ อ่านอคินเจ็บปวดสนุกมาก บางทีอาจจะเป็นพีคให้รักนิยายเล่มนี้สุดๆ ก็ได้นะ อยากดูการลงโทษพระเอกใจร้ายแนวนี้มานานแล้ว ตอบโจทย์สุดๆ”

[ความไร้สาระอย่างหนึ่งที่จะบอกก็คือ หลังจากผ่านค่ำคืนด้วยกัน อคินเริ่มเปิดใจให้มันตรามากขึ้น — ถ้าใจร้ายจะบอกว่า กดอคินกดไปก็สิ้นเรื่องไปนานแล้ว // ล้อเล่นนนนนนน]


-ฉากตายของมันตรา-
เข้าใจว่าหลายคนขัดใจกับฉากที่มันตราตายอยู่พอสมควร แต่ส่วนตัวเอง ทั้งการตายและสาเหตุการตายเป็นจุดที่รักสาปอสุราที่สุดก็คือตอนนี้ มองว่าคนเขียนกล้าที่จะให้น้ำหนักกับความสำคัญของเหตุการณ์และนัยยะผลกระทบที่จะเกิดขึ้น โดยไม่กลัวว่าจะถูกคนอ่านไม่พอใจหรือโกรธ เพราะสุดท้ายแล้ว การปฎิบัติตัวและท่าทีที่อคินมีต่อมันตราอยู่ในขั้นที่ร้ายแรงจนไม่น่าให้อภัยซ้ำแล้วซ้ำเล่า ถ้ามองว่าก่อนหน้าเป็นเพราะยังมีอคติจากมุมมองที่เห็นเจ้าชายมันตรามาซ้อนทับกับมันตราในชาตินี้ยังสามารถให้อภัย แต่ภายหลังเมื่อได้อยู่ด้วยกัน และรู้จักตัวตนของกันและกันมากขึ้นแล้วก็ยังที่จะไม่เชื่อใจมันตราอย่างที่มีให้กับดารัญ และพร้อมที่เลือกเชื่อใจและไว้ใจดารัญมาก่อนเสมอ ภาพที่อคินต้องเลือกช่วยระหว่างตัวมันตรากับดารัญเป็นจุดที่บีบคั้นจิตใจจุดหนึ่งเลย ส่วนตัวเองขนาดไม่ได้เป็นตัวละครในเรื่องยังอดเอาใจลุ้นไปไม่ได้ว่าจะมีสักครั้งที่อคินเลือกที่จะช่วยมันตราก่อน แม้ว่ามันตราจะไม่ได้คาดหวัง และเมื่อกลายเป็นอคินเลือกที่จะดารัญเป็นอันดับแรก แม้ว่ามันตราจะเว้าวอนผ่านทางสีหน้าและแววตาก็ยิ่งทำให้ฉากนี้บีบคั้นอารมณ์อย่างมาก อย่างที่ข้างบนใช้คำว่า second-choice scar เพราะว่าอคินทำเช่นนี้ซ้ำแล้วซ้ำซากจริงๆ จนเป็นการย้ำแผลเก่าและตอกย้ำให้เห็นถึงความสำคัญที่แตกต่างกันระหว่างตัวเองและพี่ชายต่างแม่ในใจอคิน 

ซึ่งแม้อคินจะบอกว่าตามหลักเหตุผลต้องเลือกคนที่ช่วยเหลือตัวเองได้มากกว่า แต่ในแง่หนึ่ง ถ้ายังใช้เหตุผลนำทางการกระทำได้ ไม่หลงลืมตัวเอง ก็คือความรู้สึกสำคัญและการให้ค่าในใจมีน้ำหนักน้อยเกินไปก็ได้ — ซึ่งในสถานการณ์เช่นนี้ แม้อคินจะเชื่อมั่นได้ว่ามันตราจะไม่เป็นไร แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ต้องเสี่ยงชีวิต ทั้งที่ก่อนมา อคินเป็นคนย้ำกับมันตราไม่ให้อยู่ห่างสายตาตัวเองพร้อมกับจูบดูดดื่มแสดงความรู้สึก แต่หากอคินเป็นคนปล่อยมือให้อีกฝ่ายห่างสายตาเองเล่า? และที่สำคัญ แม้อคินจะเชื่อมั่นในกำลังของตัวเองว่าช่วยทั้งสองคนไว้ได้ แต่หากมีความเสี่ยงใด ๆ ที่อาจจะคุกคามและพรากชีวิตของมันตราได้ ก็ยิ่งหมายความว่าอคินบกพร่องในฐานะผู้ปกป้องมากยิ่งขึ้นเท่านั้น โดยเฉพาะเมื่อ ถ้าเทียบกัน ชีวิตของมันตรามีความสำคัญกว่าชีวิตของดารัญที่เป็นมนุษย์ธรรมดา (ในตอนนั้น) เพราะมันตรามีภาระความรับผิดชอบที่จะต้องปลดปล่อยเหล่าอสูรที่ถูกลงทัณฑ์ และฟื้นฟูอสุรนครด้วย และหากมันตราตายไป การปลดปล่อยนี้ก็จะยิ่งเนิ่นช้าออกไป


ฉะนั้นแล้ว ภาคการตายก็คงไม่ใช่ความรู้สึกเจ็บปวดที่สุดสำหรับมันตรา เพราะความรู้สึกเคว้งคว้างตกจากที่สูงของมันตราเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้งจากการกระทำและทัศนคติของอคิน ทั้งก่อนหน้านั้นก็คือการอยู่ด้วยกันและตื่นมาเจออคินพูดคุยอยู่กับดารัญ และการถูกทำลายจิตใจ -ที่ยิ่งกว่าทำร้ายจิตใจ- จากอคินอย่างต่อเนื่องสามระลอก ทั้งการเลือกช่วยดารัญก่อน การหวาดระแวงว่ามันตราจะทำร้ายดารัญ และการไม่เชื่อคำพูดของมันตราก็ตาม (ที่แม้ว่าอคินจะได้ยินเรื่องจากมุมมองที่ต่างกันของกนเรวัติถึงตัวการก่อเรื่อง แต่ถึงเวลาจริง น้ำใจในใจดารัญที่มีกับอคินก็มากพอที่ทำให้ความรู้ที่ได้เลือนหายไปจากเหตุผลที่ใช้ตัดสินใจด้วย) ดังนั้น เอาจริงแล้ว ฉากการตายนี้ก็คงเป็นฉากที่เจ็บปวดที่สุดสำหรับอคินมากกว่า เพราะหลังจากนั้นมันตราก็ลืมเลือนและเริ่มต้นใหม่ไปแล้ว แต่อคินต้องอยู่กับความจริง และรับรู้ความจริงที่เป็นไปทั้งหมดจากมุมมองที่ถูกปิดตามาตลอด เมื่อได้รู้ว่าดารัญผิด ความรู้สึกผิดที่เข้าใจอีกฝ่ายบิดเบือนมาตลอดมาซ้อนกับข้อเท็จจริงที่มันตราตายในอ้อมแขนในแง่ที่เพราะตัวเองไร้ความสามารถปกป้องไว้ไม่ได้ และเพราะบกพร่องต่อหน้าที่ก็ยิ่งตอกย้ำสร้างผลกระทบลบตรึงลึกไปในจิตใจอคิน หลงรักและสะใจกับความรู้สึกผิดที่ยิ่งทบทวีความรุนแรง

รักประเด็นการตายอยู่อย่างหนึง เพราะในนิยายรักทั่วไปโดยเฉพาะแนว contemporary การที่พระเอกทำร้ายตัวเอกจนอีกฝ่ายต้องหนีไป มักจะจบลงด้วยพระเอกตามไปง้อ และการง้อนั้นก็จะเป็นแค่ระยะเวลาแสนสั้น ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลที่ตัวเอกใจอ่อนเพราะรักพระเอกมากก็ดี หรือเพราะทนแรงกดดันจากรอบข้างไม่ได้ก็ดี ซึ่งการตายของมันตราในแง่ที่จากลาจากพระเอกนั้นเป็นการยกระดับการหนีของตัวเอกอย่างมาก เป็นการตัดจบแบบตบหน้าแล้วกระทืบซ้ำ แล้วเอามีดเสียบ เพราะนอกเหนือจากไปกะทันหันโดยไม่มีการกล่าวลาให้รู้ตัวแล้วก็ยังเป็นการลาจากโดยที่ไม่คิดจะพบกันอีก หรือเปิดโอกาสให้ตามหาเจอเสียด้วย และก็ชองการลาจากแบบสุดโต่งที่ทำได้เพราะเงื่อนไขเหนือจริงของสาปอสุราด้วย

-การเลือกของมันตรา-
นัยยะอีกอย่างหนึ่งที่ชอบก็คือ การขอไปเกิดใหม่ โดยไม่กลับมาเป็นเจ้าชายอสูร และปกครองอสุรนครของมันตรา ทั่วไปแล้ว การปล่อยวางเป็นได้ทั้งเมื่อคนผู้นั้นทำใจให้เข้าใจได้ แต่ขณะเดียวกันก็เป็นเพราะว่าทุกข์ทรมานจนไม่ขอยุ่งเกี่ยวอีกต่อไป ซึ่งสำหรับมันตราก็เป็นจากอย่างหลังเท่านั้น การถูกสาปมาให้เกิดเป็นมนุษย์ไม่ใช่แค่ครั้งเดียว แต่เมื่อเป็นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ความทุกข์ทรมานและภาระสาหัสที่มีบีบคั้นตัวตนของมันตราในแต่ละภพอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเมื่อคนที่ควรจะมาเป็นผู้ช่วยเหลือกลับกลายเป็นผู้ซ้ำเติมอยู่เสมอ และนอกเหนือจากนั้น การเปลี่ยนสถานภาพจากอสูรแกร่งกล้ามาสู่มนุษย์สามัญก็คือการรับรู้ประสบการณ์ใหม่ด้วย ยามที่เพิ่งเกิดใหม่ยังไม่รับรู้อดีตก็คือความเป็นอิสระที่ปราศจากความรับผิดชอบที่กดหนักจนหายใจไม่ออกมาเป็นหลายร้อยชาติ อย่างที่มันตราในชาติภพนี้บอกว่าแรงจิตอธิษฐานในฐานะเจ้าชายอสูรเหนื่อยล้าจากการตามหา เมื่ออคินตั้งข้อสงสัยว่าตัวอีกฝ่ายใกล้เคียงความเป็นมนุษย์ยิ่งขึ้นเรื่อยๆ (บทที่ 19) ดังนั้น แม้การเป็นมนุษย์จะเป็นการลงโทษ แต่เมื่อเวลาผ่านไปก็กลายเป็นเรื่องน่าขันที่กลายเป็นการปลดปล่อยจากหน้าที่และการได้รับอิสรภาพของมันตราไปด้วย เมื่อประสบการณ์ชีวิตที่ได้รับเปลี่ยนแปลงทั้งความรู้สึกนึกคิด และเป้าหมายชีวิตไปแล้ว สิ่งนี้ก็มีผลถึงตัวตนของมันตรา โดยเฉพาะเมื่อเจ้าตัวรับรู้และย้ำถึงอัตลักษณ์ของตัวเองในฐานะมนุษย์มาโดยตลอด ในแง่หนึ่ง การพ้นโทษจึงไม่ใช่การกดปุ่ม pause การเป็นมนุษย์และ play เพื่อเริ่มเล่นสถานะการเป็นเจ้าชายอสูรอีกต่อไป แต่เป็นการ reset เพื่อเริ่มต้นตัวตนใหม่ของอดีตเจ้าชายอสูร

ชอบนัยยะนี้ที่เป็นสัญลักษณ์การตบหน้ามหาเทพทางอ้อม และอาจจะมากกว่าแค่มหาเทพเสียด้วย เพราะอสูรทุกตน (อย่างน้อยก็พวกที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามมันตรา) เหยียดหยามมันตราเมื่อได้รับการลงโทษให้ไปเกิดเป็นมนุษย์ แต่แม้จะไม่ได้เกลียดมนุษย์ แต่ก็ยังเหยียดหยันในความด้อยกว่าของมนุษย์ (โดยจุดนี้อคินก็เป็น) แต่สุดท้ายแล้ว เจ้าชายมันตราซึ่งทะนงกับสายเลือดอสูรของตนกลับเลือกไม่กลับมา และยอมเป็นมนุษย์แทน ซึ่งนอกจากจะเป็นฉากตบหน้าอสูรเหล่านี้แล้ว (ก็แสดงให้เห็นถึงบาดแผลในใจของมันตราที่ถูกทำร้ายจากทัศนคติของคนรอบข้างด้วย) แม้จะปฎิเสธไม่ได้ว่าความรู้สึกหนักหนาสาหัสของมันตราส่วนหนึ่ง (หรือส่วนใหญ่ /ส่วนหนึ่งที่เป็นใหญ่) ก็เกิดจากเรื่องของหัวใจตัวเองด้วยเหมือนกัน

-การสลับบทบาท-
ชื่นชมประเด็นการตาย สาเหตุการตาย ที่ต่อเนื่องไปถึงการเลือกจบสิ้นทุกอย่างของมันตรา ที่พอมาผสานกับความรู้จริงก็เป็นจุดพลิกสลับสถานะความสัมพันธ์ระหว่างกัน อย่างในชาติบรรพกาล มันตราชื่นชมและยอมฟังอคินมาตลอด แม้กระทั่งภพปัจจุบัน การที่มันตรายอมง้องอนอคินมาตลอดก็ทำให้อคินอยู่ในสถานะที่เหนือกว่ามาเสมอ แต่พอมีช็อคและอาฟเตอร์ช็อคสำหรับอคิน (ที่มันตราหนีไปน่าจะรุนแรงกว่าแค่ตาย) ก็บิดเปลี่ยนให้อคินล้มกระดานจัดลำดับความสำคัญและให้มันตราเป็นศูนย์กลางจักรวาลสำหรับตัวเองขึ้นมาแทน ชอบที่พอการใช้เหตุผลและหน้าที่ทำให้เกิดสภาวะอย่างที่ตัวเองไม่คาดคิดและไม่เคยอยากให้เกิด ก็เลยละทิ้งเหตุผลและใช้อารมณ์ (หรือเจาะจงไปก็คือ มันตรา) มาเป็นตัวกำหนดการกระทำและความคิดไปแทน เกิดพลิกสลับสถานะความสัมพันธ์ระหว่างกัน ทั้งเชิงทั้งความรู้สึกนึกคิด และพฤติกรรมท่าทีที่มีต่อกันตามเงื่อนไขในใจของแต่ละฝ่าย โดยอคินเกิดเป็นการยอมไม่มีข้อแม้ ให้ความรักครั้งนี้ไม่ต้องการให้เหตุผลหรือตรรกะ แต่ให้ความรู้สึกนำทาง ขณะที่มันตราระวังตัวและรักษาระยะห่างระหว่างกันไว้เพื่อป้องกันความรู้สึกและใจที่อาจจะเกินเลยเหนือการควบคุมของตนเอง เป็นความไม่สมดุลที่สมดุลตามสภาพ ซึ่งฉากที่ชอบที่สุดในตอนอยู่ด้วยกันภายหลังก็คือตอน “ควบคุมไม่ได้” ที่อธิบายความไร้สมดุลระหว่างกันได้ดี ทั้งในแง่ที่คนหนึ่งอยากเข้าใกล้ ขณะที่อีกคนอยากรักษาระยะ สนุกที่ได้เห็นอคินอยากรู้ความคิดของมันตรา และพยายามเรียกร้องความสนใจจากอีกฝ่ายตลอดเวลา ไม่ว่าจะตอนอ่านหนังสือ หรือทำกับข้าว  — ซึ่งถ้าคิดถึงอีก scenario หนึ่งที่มันตราไม่ตาย และใจอ่อน ผลกระทบที่เกิดขึ้นคงไม่เป็นการสร้างสมดุลใหม่ที่ตาชั่งเอียงเช่นนี้? กับถ้าตัดแบบใจร้ายอย่างที่ผู้เขียนเคยล้อเล่นว่าให้จบตอนที่มันตราตายล่ะ?

-เนวิน-
ส่วนตัวเอง ไม่ชอบบุคลิกลูกหมาแบบเนวิน เพราะชายหนุ่มเสียงดัง สร้างความวุ่นวาย แต่เนวินกลายเป็นตัวประกอบหลักที่มีอยู่ในหลายๆ ชาติ ตั้งแต่ชาติหลัก ชาติแรกที่มันตรามาเกิดใหม่ หรือแม้แต่ชาติสุดท้าย แต่เมื่อย้อนกลับมาอ่านใหม่ครั้งสุดท้าย อคติที่มีต่อเนวินลดลงมาก เพราะแม้คนอื่นจะคิดในเชิงลบหรือดูถูกมันตรา แต่เนวินมีแค่ความชื่นชมบูชา การถามข้อมูลเกี่ยวกับมันตราจากนายทหารอื่นๆ ไม่เคยเป็นเพราะสู่รู้ แต่เพราะเจ้าตัวเองอยากรู้จักและเข้าใจตัวมันตรามากยิ่งขึ้น และก็พร้อมที่จะเข้ามาหาเสมอ ใส่ใจคอยดูแล แม้จะถูกมันตราเย็นชาใส่ขนาดไหนก็ตาม ซึ่งในแง่นี้ตัวเนวินเองก็เป็นคนที่อยู่เคียงข้างมันตรามาเสมอ (แม้ว่าในช่วงหลังจะกลายเป็นตัวจุดชนวนความหึงหวงไม่พอใจของอคิน)

อย่างที่บอกว่ามีช่วงที่อยากได้พระรองที่โดดเด่นทั้งในเชิงรูปลักษณ์และความสามารถมาถ่วงดุลกับอคิน แต่อันที่จริงจะเป็นใครก็ได้เลยที่ทำให้มันตราผ่อนคลายตัวเองได้ และในแง่หนึ่งเมื่อเนวินฝ่าเกราะเข้าไปถึงตัวมันตราได้ เนวินก็สร้างลดความเข้มงวดของมันตราได้เหมือนกัน ทั้งนี้ ในแง่หนึ่งการได้พระรองโดดเด่นมา นอกเหนือจากจะทำลายภาพรักตั้งมั่นของมันตราแล้ว ก็อาจจะยิ่งเร่งปฎิกริยาขับไล่อคินแล้วเกิดพระเอกคนใหม่มาแทนก็ได้ มีความโน้มเอียงสูงที่คนอ่านจะเกิด second male lead syndrome แล้วยิ่งเกิดความไม่พอใจต่ออคินขึ้นมารุนแรงกว่าเดิม และสุดท้ายแล้ว ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม เมื่ออคินเข้าสู่โหมดรักนำหน้าแล้ว  แม้กระทั่งเนวิน (หรือโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เนวิน) ก็ทำให้อคินตาขวางและหึงหวงเกินพอดีได้ทั้งสิ้น

-นัยยะเชิงสัญลักษณ์-
1. เพลง Love Me Tender
ส่วนตัวแล้ว มันตราชอบเพลงนี้ก็เพราะแทนความรู้สึกของตัวเองที่มีต่ออคิน และอยากให้อคินรับรู้ แต่พอฟังเพลงนี้ด้วยกันช่วงที่อยู่ที่บ้านของอคินก็เหมือนจะแสดงให้เห็นช่วงเวลาที่มีร่วมกันด้วย และดังนั้น สำหรับอคินเอง เพลงนี้ก็แทน honey phrase ที่หายไป ทำให้แม้จะเริ่มด้วยความรู้สึกของมันตรา แต่ก็กลายเป็นเพลงที่อคินรู้สึกร่วมไปด้วยสินะ ทั้งกับความระลึกถึงมันตราและช่วงเวลาที่ได้อยู่ร่วมกัน และการอ้อนวอนขอความรักที่หลุดลอยไปของมันตราให้กลับมา

2. คำเรียกท่านพี่
ชอบเชิงสัญลักษณ์ที่แฝงอยู่ในคำ เพราะแม้จะเป็นคำเรียกแต่ก็เป็นตัวแสดงถึงความรู้สึกและทัศนคติที่มีต่อกัน เพราะแสดงถึงความรู้สึกใกล้ชิดรักใคร่ของอคิน และความรู้สึกผูกพันไว้ใจของมันตรา เมื่อคำนี้หายไป ก็แสดงถึงความสัมพันธ์อันดีที่จบสิ้นกันไปของทั้งคู่ด้วย และดังนั้น สำหรับอคิน ก็เป็นการกระตุ้นให้รำลึกถึงอดีตที่ถูกปิดตายในใจตัวเอง และเมื่อมาง้อมันตรา ก็ต้องการความรู้สึกรักใคร่ ยกย่องและไว้เนื้อเชื่อใจอย่างไม่มีเงื่อนไขเช่นเดิมกลับมาอีกครั้ง — ใต้สองสถานการณ์ที่อยากเห็นก็คือแบบละมุนนั้น ได้เห็นอคินย้วยตัวละลายไปแล้วจากเล่มพิเศษหลังถูกมันตราเรียก แต่ถ้าสมมติอีกแบบหนึ่งที่เป็น kinky fantasy ของอคิน ที่จะคึกขึ้นมา เมื่อได้ยินคำนี้บนเตียงล่ะ?  

3. ต้นอ่อน
นัยยะที่ชัดเจนที่สุด และชวนลุ้นที่สุดสำหรับคนที่เฝ้ารอให้อคินมีความรู้สึกตอบรับกลับไปที่มันตรา ปรากฎตัวมาสองสามครั้งแบบแผ่วแล้วก็หายสาบสูญไป แต่จากรูปการณ์ตอนนี้ นัยว่าคงจะกลายเป็นฟาร์มต้นอ่อนใหญ่ติดอันดับต้นๆ ของทวีป ถ้าไม่กลายเป็นต้นไม้ยักษ์สามร้อยคนโอบ หรือว่าอาจจะเป็นป่าดงดิบไปเลยก็ได้

4. ดวงอาทิตย์
เมื่อการเห็นดวงอาทิตย์หมายถึงอคิน การเฝ้ามองดวงอาทิตย์ในยามที่ยังไม่ระลึกอดีตก็คือการโหยหาและไล่ตามคนที่สำคัญที่สุดตามจิตใต้สำนึกอย่างที่เคยทำมาเมื่อครั้งอดีต และการคลายคำสาปคืนเดือนดับที่เกิดขึ้นด้วยแสงอาทิตย์เสียด้วย

สุดท้ายแล้ว อะไรคือองค์ประกอบที่ทำให้หลงรักนิยายเล่มหนึ่ง? เพราะสำหรับแต่ละคนก็มีมุมถูกใจต่างกัน และส่วนตัวตอนเริ่มอ่านก็ไม่ได้คิดว่าจะสาปอสุรามากขนาดนี้ แต่พอยิ่งอ่านยิ่งตาม ก็หลงรักหมดทั้งการใช้ภาษา องค์ประกอบตัวละคร โครงเรื่อง การดำเนินเรื่อง และที่สำคัญ การใช้สัญลักษณ์ ณ ปัจจุบัน ถ้าไม่มีอะไรมาทำให้พลิกโผ สาปอสุราก็น่าจะเป็น Best Read ของ 2018 ไป! ให้ A+ ด้วยเหตุผลว่า A best blend between past and present with just-right elements for heart-wringing feel! ก็ฉันทาคตินำมาอยู่แล้ว (หรือเอาจริง ประเด็นการตายและการพลิกเกมของมันตราก็อยากจะพูดว่า too-right elements ด้วยเหมือนกัน! ถูกใจ ถูกใจ และถูกใจ!)

ทั้งนี้ แม้ว่าภาคพิเศษจะเป็นช่วงที่หวานชื่นดื่มด่ำ แต่ส่วนตัวก็อยากอ่านเห็นมุมมองของอคินจากช่วงภาคหลัก และเรื่องราวระหว่างมันตรากับอคินสมัยอดีตอยู่ด้วยเช่นกัน (ถ้าได้ระหว่างที่ทั้งคู่เริ่มโต แบบท่านพี่อคินรุกแบบตัวเองไม่รู้ตัว และมันตราไม่รู้เรื่องว่านี่คือการรุกจะดีมาก หรือว่าจะเป็นตอนเด็กที่เล่นด้วยกันก็ดีงามไม่แพ้กัน) โดยเฉพาะเมื่อรู้สึกว่าช่วงที่อยู่ด้วยกันตอนนั้นเป็นช่วงที่ละเมียดที่สุด และอยากเห็นความอ่อนโยนที่อคินมีต่อมันตรา และความเชื่อมั่นในตัวอคินที่มันตรามีให้เพิ่มเติมจากฉากจำนวนน้อยที่มีเช่นกัน

ปล. โอยยย นี่คือรายงานวิชาวิเคราะห์สาปอสุราเหรอ เขียนมาได้จริงจังขนาดนี้ เหนื่อยมากกก สิบหน้า กรี๊ดดด! ไม่นับ short note อีกเกือบสิบหน้า และ playlist อีกนะเนี่ยย

No comments:

Post a Comment