Friday, 23 January 2009

Od Magic by Patricia A. McKillip (n)

ซื้อมาเพราะติดใจ The Forgotten Beasts of Eld เมื่อเจอหนังสือจากนักเขียนคนเดียวกัน (Patricia A. McKillip) ก็เลยไม่เแปลกอะไรที่จะคว้ากลับมา .. แต่ก็ต้องสารภาพว่าอ่านค้างไว้ครึ่งเล่มมาเป็นปีแล้ว เพิ่งจะได้อ่านจนจบนี่แหละ


ชนิด : Rich Fantasy
สำนักพิมพ์ : Ace Trade (June 6, 2006) (Paperback)
จำนวนหน้า : 320หน้า
(ราคาเต็มคิโนะ : 489 บาท)


Brenden ผู้มีความพิเศษในการสื่อสารกับต้นไม้ต่าง ๆ อาศัยอยู่อย่างเงียบเหงาเพียงลำพังหลังพ่อและแม่ตายจาก และพี่ชายกับคนรักออกเดินทางไปจากบ้าน วันหนึ่ง Od หญิงร่างยักษ์ท่าทางแปลกที่มีฝูงสัตว์จำนวนมากอาศัยอยู่บนตัวเธอ ได้เดินทางมาหาเขา และขอให้ Brenden ไปเป็นคนสวนในโรงเรียนเวทย์มนต์ของเธอ

ทุกอย่างดูเหมือนจะเป็นเรื่องปกติธรรมดา หากแต่พระราชากำลังหวาดเกรงว่าเวทย์มนต์ที่มีอยู่ในโรงเรียนและในอาณาจักรจะเกินการควบคุมและเป็นอันตรายต่ออำนาจของตัวเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อ Tyramin นักมายากลชื่อก้องมาเปิดการแสดงที่เมือง และเมื่อรับรู้ว่า Brenden อาจมีอำนาจมากกว่าที่เห็น..

พอย่อให้สั้นแล้วเหมือนจะไม่สามารถร้อยเรียงความลึกล้ำของ Od Magic ออกมาได้เลย เพราะพล็อตเรื่องดูเหมือนจะง่าย แต่จริง ๆ มีอะไรมากกว่านี้เยอะ โดยเฉพาะตัวละครหลักที่เข้ามามีบทบาทต่าง ๆ กัน (ซึ่งหนังสือเล่มนี้ก็พูดถึงความเชื่อมโยงเกี่ยวพันตัวละครเหล่านี้เสียด้วย) ซึ่งนอกจาก Brenden ตัว Od และพระราชา Galin แล้ว ก็ยังมี Yar ครูสอนเวทย์มนต์ของโรงเรียน ซึ่งนับวันก็เรียกร้องหาความเป็นอิสระที่นอกเหนือจากที่อำนาจของอาณาจักรจะมีให้ Arneth ผู้ดูแล Twilight Quarter ที่เบื่อหน่ายกับข้อผูกมัดจากพ่อและจากตำแหน่งงาน Mistal ลูกสาวแสนสวยของนักมายากลที่เต็มไปด้วยความลึกลับ Ceta หญิงสูงศักดิ์คนรักของ Yar ผู้ที่อยู่ในกรอบของกฎเกณฑ์ก่อนที่จะเปิดตารับความจริงที่เจอ Sulys เจ้าหญิงผู้แสวงหาที่อยู่ของตัวเอง และคนที่จะพร้อมจะเข้าใจ ขณะที่เรียนรู้ที่จะเติบโต Valoren ผู้ใช้เวทย์มนต์และข้ารับใช้ของกษัตริย์ ซึ่งคิดว่าความรู้จะทำให้เขาควบคุมสิ่งต่าง ๆ รอบตัวได้จนละเลยความเข้าใจหรือจิตใจไป (ฟังดูทุกคนย่อมมีปัญหาของตัวเอง วุ่นวายแท้หนอ .. แม้ปัญหาจะสะสางได้ตอนจบก็ตามที)

จริง ๆ หลักของหนังสือเล่มนี้ก็คือการเข้าใจและยอมรับโลกอย่างที่เป็น แทนที่จะมองอย่างที่เราอยากให้เป็น โดยเห็นได้ชัดที่สุด ก็คือตัวพระราชาเอง ที่กลัวว่าเวทมนต์จะมีอำนาจมากเกินไป จนคานหรือแม้แต่เอาชนะอำนาจของอาณาจักรได้ (เหมือนกันข้อถกเถียงเรื่อง ศาสนจักรกับอาณาจักร อันที่จริง) ทำให้พยายามควบคุมอำนาจทางฝ่ายเวทย์มนต์ไว้ด้วยการครอบงำ และมีอำนาจเหนือ ซึ่งรวมไปถึงการสอนให้อีกฝ่ายเชื่อในสิ่งที่ตนเองเชื่อ และปฏิบัติตามในสิ่งที่ต้องการต้องการ จะเห็นได้ว่า ขณะที่อาณาจักรอื่นรอบข้างเปิดใจและเปิดกว้างรับสิ่งเหล่านี้ หากในอาณาจักร คนจะเรียนในสิ่งที่นอกเหลือไปจากที่มีในบทเรียนไม่ได้ และผู้มีอำนาจเวทมนต์หากไม่เข้าเรียนในโรงเรียน ก็จะถูกล้างสมอง หรือถูกเนรเทศให้ออกจากอาณาจักรไป

ในแง่หนึ่ง การยอมรับเช่นนี้ก็รวมมาถึงในระดับปัจเจกบุคคลด้วย ดังที่ตัวละครหลายตัวถูกบังคับให้เชื่อและทำในสิ่งที่สังคมต้องการ ไม่สามารถผิดไปจากสังคมได้ แม้ว่าความเชื่อของสังคมจะเป็นสิ่งที่ผิดแปลกขนาดไหนก็ตาม และกลับกลายเป็นว่าความเชื่อของสังคมที่ผิดแปลกไปเป็นเรื่องปกติไปเสียด้วย อย่างตัว Yar ที่เข้ามาอยู่ในโรงเรียนซึ่งเป็นที่อยู่ของเหล่าลูกหลานชนชั้นนำและเศรษฐีได้ เพราะความสามารถและศักยภาพทางเวทย์มนต์ที่เขามี แต่ศักยภาพนั้นก็ถูกครอบงำและถูกกำหนดให้ไปเป็นในทิศทางอย่างที่โรงเรียนต้องการ อย่างที่พ่อมดเองก็ยอมรับอยู่ในภายหลังว่า เขาได้หลงลืมเด็กชายคนที่เดินเข้ามาที่โรงเรียน และกลายเป็นคนอื่นไป และโดยเฉพาะเมื่อกลายเป็นอาจารย์ในโรงเรียน ที่ทำให้เขาได้ลืมแม้กระทั่งการตั้งคำถามถึงความเป็นไปได้กับสิ่งรอบตัว แม้ว่าสิ่งนี้จะเป็นสิ่งที่ครั้งหนึ่งเคยมีอยู่ในตัวเขาก็ตาม และแม้เมื่อมีเด็กนักเรียนที่กล้าตั้งคำถามถึงสิ่งที่ต่างออกไป และ Yar ตอบให้เด็กเข้าใจด้วยมุมมองที่แตกต่างไปจากที่โรงเรียนสอน เขาก็ถูกเพ่งเล็งจากข้ารับใช้ของกษัตริย์

วิธีดำเนินเรื่องหนังสือเล่มนี้เหมือนกับ The Forgotten Beasts of Eld ที่ตัวละครผ่านการเดินทางเพื่อค้นหาให้เข้าใจและค้นพบตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นตัวละครใด แม้กระทั่งพระราชาก็ได้เปลี่ยนแปลงมุมมองชีวิต ทัศนคติและเข้าใจตัวเองเมื่อตอนจบทั้งสิ้น (ซึ่งอาจจะแตกต่างจาก The Forgotten Beasts of Eld ที่เน้นที่ตัวละครเอกสองตัวที่เข้าใจและเปลี่ยนแปลงตัวเองจากกันและกันในแง่หนึ่ง) ตัวละครที่ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกัน ถูกตัว McKillip นำมาถักทอร้อยไว้ด้วยกัน และกลับมาความสำคัญต่อตัวละครที่เหลือจนกระทั่งเปลี่ยนแปลงตัวละครอื่น ๆ ได้ โดยมีตัว Od เป็นศูนย์กลาง

ประเด็นหนึ่งที่ชอบมากก็คือการตั้งคำถามของตัว Yar เอง ซึ่งการที่เขาได้เข้ามาในโรงเรียนนี้ก็เพราะได้พิสูจน์ถึงความสามารถของตัวเองจนผู้อื่นยอมรับ แม้วีรกรรมและโอกาสอันเหลือเชื่อนี้ก็เป็นสิ่งที่เด็ก ๆ เล่าขานถึงด้วยความตื่นเต้นกึ่งเพ้อฝันที่จะได้มีโอกาสอย่าง Yar แต่สำหรับเจ้าตัว สิ่งนี้อาจจะเป็นการจำกัดมากว่าโอกาสก็ได้ อย่างที่บอกไว้ในหนังสือว่า เป็นเพราะพระราชาหวาดกลัวอำนาจที่เขามี และดังนั้นการให้เข้าเรียนก็ไม่ใช่เพื่อเปิดโอกาส แต่เป็นเพื่อการจับตาดูอย่างใกล้ชิด และเพื่อให้ควบคุมเขาให้ได้ ... หนังสือวันนี้พูดถึงคำว่า ควบคุม ครอบงำ และการมีอำนาจเหนือมาก ซึ่งจริง ๆ สิ่งเหล่านี้ก็คือหัวใจของ “การเมือง” และ McKillip ก็อธิบายธรรมชาติของการเมืองนี้ได้ดีเสียด้วย

จุดเด่นของ McKillip ที่เด่นชัดอีกอย่างก็คือ การจินตนาการ และการมอบจินตนาการนั้นแก่ผู้อ่านเพื่อที่จะตีความและต่อยอดต่อไปเองตามที่ McKillip ชี้แนวทางให้ผ่านการใช้ภาษาสละสลวย พรรณนาความ อย่างชื่อ Od ก็คือว่าเป็นการเล่นเสียงคำว่า Odd ที่แปลว่าแปลกประหลาด ซึ่งแปลกประหลาดในความหมายนี้ ก็ขึ้นอยู่กับการตีความของเราเอง

บางทีสิ่งที่ดูเหมือนจะไม่มีอะไร ก็ดูมีอะไรซ่อนอยู่เช่น บทสนทนาของ Valoren ที่ปรึกษาและข้ารับใช้ของกษัตริย์กับ Sulys เจ้าหญิงที่ถูกให้หมั้นหมายกับเขา

“Why do you care?” he asked so astutely that again she was wordless. He waited for an answer; she found herself retreating hastily, hiding herself from him.

“I don’t,” she said, shortly. “Why would I care about matters – “

“It’s what don’t know that matters.”

“Small things point the way to more complex things that could possibly be dangerous…” (หน้า 110)

แต่บทที่ชอบและประทับใจที่สุดในหนังสือเล่มนี้ กลายเป็นบทสนทนาระหว่าง Arneth กับ Mistal เมื่อ Arneth กำลังสับสนระหว่างความรู้สึกของตัวเองกับหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบ หลังได้รู้ความลับของ Tyramin นักมายากลผ่านจากเธอ และบอกให้เธอไปให้พ้นจากเขา

“No one,” she heard herself saying then, “outside of my little traveling world has ever seen all of my faces before.”

She saw his taut face loosen, the beginnings of his smile. “I’m enchanted by them all,” he confessed simply.

“Even this one? My plainest face?”

“Especially that one. All the mysteries are hidden behind it”

He didn’t move, nor did she. The air itself seemed to become a hand, reach out to touch her. (หน้า 212)

มาอ่านดูเหมือนไม่มีอะไร แต่ถ้าอ่านระหว่างบรรทัดดี ๆ เป็นการสารภาพความรู้สึกระหว่างคนสองคน และเป็นการสารภาพรักที่ดูลึกซึ้งโดยที่ไม่ต้องใช้คำว่า รัก หรือ ชอบ มาบอกเลย

โดยรวม หนังสือเล่มนี้ควรอ่านเมื่อมีเวลาและมีความอดทน (แปลง่าย ๆ ว่ามีเวลาสบายใจ) เพราะจะอ่านงานของ McKillip อย่างผ่าน ๆ พรืด ๆ ก็จะพบว่าไม่สนุก เพราะดูว่ายืดยาด ไม่กระชับ แต่ว่ามีเวลาซึมซับ ทำความเข้าใจระหว่างบรรทัด ระหว่างย่อหน้าจะพบเรื่องราวและรายละเอียดอยู่มาก โดยเฉพาะเมื่อตัวละครของ McKillip มีความเป็นมนุษย์สูง และมีแรงจูงใจที่จะทำการใด ๆ อย่างสมจริง ซึ่งก็ต้องใช้เวลาในการเข้าใจบุคลิกตัวละครเหล่านี้อยู่เหมือนกัน และโดยเฉพาะเมื่องานทุกเล่มของเธอมีสาส์นที่ตัวเธอเองต้องการส่งผ่านมาเพื่อให้ผู้อ่านได้ทำความเข้าใจและเปิดโลกทรรศน์เสมอ ... อย่างที่ Sir Francis Bacon บอกว่า “... and some few to be read wholly, and with diligence and attention.”

ปล. คอมเมนต์ยาวอีกแล้ว เป็นอะไรไปหลังจาก Wildwood Dancing คะ?

The Forgotten Beasts of Eld By Patricia A. McKillip

วันก่อน ไปคิโนะอย่างอารมณ์เสียมาก ๆ ก็เลยเริ่มต้นขอดำดิ่งไปสู่มุม fantasy เลยก็แล้วกัน แล้วก็ได้หนังสือที่เข้ารอบมาหนึ่งตั้งใหญ่ ในนั้น ก็มี The Forgotten Beasts of Eld ด้วยเนี่ยแหละ และหลังจากที่เริ่มอ่านเล่มนี้เป็นเล่มแรก และอ่านไปได้ 60 กว่าหน้า ก็ตัดสินใจเลยว่า เป็นตายอย่างไรก็ต้องซื้อ (ซึ่งก็ไม่ดีเลย เพราะว่าหลังจากวางเล่นนี้ไว้บนชั้น เพื่อหาหนังสืออื่น ๆ ที่ถูกใจ ก็เกิดระแวงประสาทขึ้นมาว่า ใครจะมาหยิบหนังสือฉันไปไหมเนี่ย ทั้ง ๆ ที่คนอ่านแฟนตาซีไม่เหมือนเหมือนอ่านแพรวรายสัปดาห์ หรือไทยรัฐแท้ ๆ ไม่มีทางมาตบตีแย่งหนังสือกับแน่นอน) พอได้หนังสือถูกใจก็เลยอารมณ์ดีมา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อคิดว่า หลัง ๆ ซื้ออะไรก็ถูกใจหมดตั้งแต่ Decoy Princess มาอย่างไรก็ตาม The Forgotten Beasts of Eld พิมพ์มาก็หลายครั้ง ชอบปกอันนี้ น้อยที่สุดเลย TT



ชนิด : Classic fantasy/ Young Adult
สำนักพิมพ์ : Magic Carpet Books (July 22, 1996)
จำนวนหน้า : 352 หน้า


เรื่องเริ่มต้นที่ Myk ลูกชายของพ่อมดได้ตัดสินใจย้ายเข้าไปอยู่ในป่าเพื่อสร้างโลกส่วนตัว และเรียกสัตว์ต่าง ๆ ในตำนานที่ถูกลืมให้มาเป็นบริวารของตน และเมื่อเวลาผ่านไปก็ถึงรุ่นของ Sybel ผู้เป็นหลานสาวซึ่งรับช่วงการใช้ชีวิตเช่นนี้มา

Sybel มีความสุขอยู่กับการดูแลฝูงสัตว์ทรงอำนาจทั้งหลาย และการแสวงหาความรู้แปลก ๆ ที่ถูกหลงลืมไปในแต่ละวัน จนกระทั่งวันหนึ่ง Coren อัศวินหนุ่มก็ได้เดินทางมาหาเธอและขอให้รับเด็กทารกซึ่งเป็นหลานของตัวเองไว้เลี้ยงดู เพื่อปกป้องเด็กไว้ เมื่อเวลาผ่านไป Sybel ผู้ไม่เคยผูกพันกับใคร และไม่เคยรักใครก็ได้เริ่มเรียนรู้ที่จะรักเด็กทารกที่ตัวเองดูแล จนกระทั่งเด็กชายเติบโต และต้องการที่จะกลับไปพ่อของตัวเอง

แต่เพราะพระราชาหรือพ่อของเด็กชายที่เธอดูแล ได้พบ Sybel และถูกใจกับความงดงาม และที่สำคัญ อำนาจที่เธอมี จนพยายามทำทุกอย่างเพื่อให้ได้ตัวเธอมาครองครอง ก็ทำให้ Sybel ได้เรียนรู้รสชาติของความเกลียดชัง หลังจากที่ได้เรียนรู้ที่จะรักเมื่อได้ดูแลเลี้ยงดูเด็กทารกของเธอมาตลอด และนั่นก็นำไปสู่บทเรียนที่สาม – ความแค้น – ซึ่งหมายความว่า เธออยู่อย่างปราศจากอารมณ์ความรู้สึกแบบมนุษย์ไม่ได้อีกต่อไป

-----------
หลังจากที่อ่านแล้ว The Forgotten Beasts of Eld ถือว่าเป็น Classic fantasy อีกเล่มหนึ่งเลย ไม่ใช่เพราะว่าถูกเขียนและตีพิมพ์ตั้งแต่ปี 1974 หากแต่เพราะการใช้ภาษาและการพรรณนาที่สละสลวยเห็นภาพ ขณะเดียวกัน ก็เหลือที่ว่างให้ผู้อ่านใช้จินตนาการของตัวเองต่อไปได้ การใช้ภาษาของ McKillip ไม่ใช่การใช้คำหนึ่งคำเพื่อบรรยาย แต่เป็นการใช้ประโยคทั้งประโยคเพื่อพรรณนา ซึ่งถือเป็นจุดเด่นอย่างหนึ่งของเรื่อง จึงไม่น่าแปลกอะไรสำหรับผู้ที่หลงรักตัวอักษร ที่จะหลงรัก The Forgotten Beasts of Eld ต่อไปได้ อย่างที่ The New York Times ได้วิจารณ์หนังสือเรื่องนี้ไว้ว่า “Rich and Regal.” และอย่างที่ตัวหนังสือเองได้รางวัล World Fantasy Award ในปี 1975 อันเป็นปีแรกที่มีรางวัลนี้ขึ้นมา

สำหรับตัวเนื้อเรื่อง ก็ไม่ใช่เป็นการพูดถึงการปราบทำลายล้างความชั่ว อย่างที่หนังสือแฟนตาซีส่วนใหญ่เป็น หากแต่เป็นการเติบโตของตัวละครหลัก นั่นก็คือ เมื่อเริ่มต้น Sybel ผู้เติบโตมากับสัตว์ทรงอำนาจทั้งหลายไม่มีอารมณ์ความรู้สึกแบบมนุษย์เลย เธออยู่ตัวเองตามลำพัง ไม่รักใคร ไม่สนใจใคร อย่างที่ Coren เคยเรียกเธอว่าราชินีน้ำแข็งและผู้หญิงเลือดเย็น แต่เพราะเด็กที่เธอเลี้ยงดู ก็ทำให้เธอเริ่มมีความรู้สึกขึ้นมา ที่จะเรียนรู้ที่จะรักและผูกพัน และต่อมา เพราะอำนาจและพลังพิเศษของเธอ ก็ทำให้เธอถูกบังคับให้เลือกฝ่ายที่จะอยู่ และถูกดึงลงในไปวังวนของความรู้สึกอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความเกลียดชังและความคิดแค้นมากขึ้น และเมื่อเธอเติบโตที่จะรู้สึกอำนาจชั่วร้ายของความรู้สึกด้านลบ ก็หมายถึงว่า เธอต้องเติบโตต่อไปที่จะเรียนรู้ที่จะลืมเลือนและให้อภัยก่อนที่ความรู้สึกต่าง ๆ เหล่านั้นจะกลับมาทำลายตัวเองเธอเอง

เหมือนดังที่ Coren ผู้หลงรัก Sybel ได้รู้จักและหลงรักเธอมากพอจนทำให้เขาลืมความขมขื่นจากการคิดแค้นและสงครามไปได้ Sybel ก็ต้องเรียนรู้ที่จะให้น้ำหนักกับความรักและความงดงามของชีวิตอย่างที่เคยเป็นให้ได้

สิ่งที่สำคัญอีกประการหนึ่ง ก็คือ การใช้ภาษาและเนื้อเรื่องที่เปิดให้มีการตีความ และการขบคิดทำความเข้าใจตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสัตว์ตัวหนึ่งเป็นหมูรู้มาก ซึ่งมักจะพูดเล่าตำนานเก่าเพื่อเป็นปริศนาให้คิดตลอดเวลา อย่างที่บอกนายของตัวว่า

"The giant Grof was hit in one eye by a stone, and that eye turned inward so that it looked into his mind, and he died of what he saw there." (หน้า 294)

ซึ่งเป็นการเตือนเป็นนัยให้ระวังความเจ้าคิดเจ้าแค้นที่อาจจะทำลายแม้กระทั่งตัวเองขึ้นมา

หรืออย่างตอนที่ Coren ขอร้องให้ Sybel คิดถึงและเรียกหาเขาเมื่อต้องการความช่วยเหลือใด ๆ ขึ้นมา

“Then if you ever have anything to fear from any man who comes here, will you call me? I will come. Whatever I am doing will remain undone, and I will come to you. Will you?”

“But why? You know I will do nothing for you. Why would you ride all the way from Sirle to help me? …. But I probably will not. Anyway, if I want you, I can call you, and you will come without choice.”

“I choose to come. It makes differences.” (หน้า 63-64)

อย่างไรก็ตาม การเติบโตของ Sybel ทำให้เกิดคิดถึงความหมายของคำว่า Coming of Age ขึ้นมาตลอดเวลาที่อ่าน เพราะว่า เมื่อเธอเรียนรู้ที่จะรักเด็กทารกของเธอ เธอก็ต้องเรียนรู้ที่จะปล่อยคนที่รักไปให้ใช้ชีวิตอย่างที่ต้องการ แม้จะต้องเจ็บปวดกับการสูญเสีย และการอยู่คนเดียว และเมื่อได้รู้จักความเกลียดและคิดแค้นทำลายก็ทำให้ราชินีนำแข็งผู้อยู่ในโลกของความบริสุทธิ์งดงามถูกดึงลงมาสู่อารมณ์ด้านต่ำอย่างมนุษย์ ถูกครอบงำด้วยความคิดด้านลบจนความรู้สึกและตัวตนเดิมของเธอเปลี่ยนแปลงไป ก่อนที่การเติบโตครั้งสุดท้าย (ที่ถูกพูดถึงในหนังสือ – อันมิใช่การเติบโตครั้งสุดท้ายของเธอจริง ๆ) จะทำให้เธอตัดสินใจที่จะเลือกทางเดินที่ควรเป็น ชั่วชีวิตของคนเราจะมี Coming of Age ในความหมายที่แปลว่า การเติบโตและการเปลี่ยนแปลงตัวเองไปได้กี่ครั้งหนอ?

ในแง่นี้ ถ้าดูจากกรณีของ Sybel เราก็จะพบได้ว่า เราจะมีการเปลี่ยนแปลง มีการเติบโต และก้าวไปข้างหน้าตลอดไป เพราะการเปลี่ยนแปลงก็คือการเรียนรู้ที่จะอยู่ปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมไปเรื่อย ๆ นั่นเอง ไม่ว่าจะดีหรือร้าย ตราบใดก็ตามที่เรายังมีชีวิตอยู่

โดยทั่วไปถือว่า พอใจกับหนังสือเล่มนี้เลย โดยเฉพาะกับขนาดของตัวอักษรและการเว้นบรรทัดที่กว้างถูกใจทำให้ยิ่งอ่านง่าย ไม่ปวดตา แต่ก็สงสัยว่า คงจะต้องหยิบมาอ่านซ้ำใหม่อีกเร็ววัน เพราะการใช้ภาษาที่งดงาม และการตีความที่มีคนบอกว่า ทุกครั้งที่หยิบมาอ่านก็ทำให้ได้ประเด็นคิดและตีความใหม่ขึ้นมา
-----------

* ทั้งนี้ การเขียนถึงหนังสือเล่มนี้อาจทำไม่ได้ดีมากนัก เพราะอย่างที่เขียนไปเบื้องต้นว่า ความงามอย่างหนึ่งของ The Forgotten Beasts of Eld ก็คือการตีความตามจินตนาการของผู้อ่าน ก็หมายถึงว่าเป็นการมองแค่ด้านมุมเดียว ซึ่งผู้อ่านอื่นอาจจะไม่ได้เห็นตาม

และเพราะเนื้อหาของตัวหนังสือเอง มีมากกว่าจะจับประเด็นออกมาเขียนถึงให้ได้ครบถ้วน จึงทำให้การเขียนวิจารณ์ The Forgotten Beasts of Eld ไม่สมบูรณ์

** The Forgotten Beasts -เหล่าสัตว์ที่ถูกหลงลืม- ถ้าคิดในแง่ลึกซึ้ง ไม่แน่ใจว่าหมายรวมถึง Sybel ด้วยได้ไหม เพราะว่า ถ้าเธอเลือกที่จะอยู่คนเดียว กับสัตว์ของเธอ เธอก็อาจจะหลงลืมอารมณ์ความรู้สึกอย่างเช่นมนุษย์ และในทางกลับกัน ทำให้ผู้คนสังคมภายนอกหลงลืมเธอไปด้วยก็ได้ ถูกตัดขาดและมีตัวตนสูญสลายจากสังคมไป

อีกทั้งการคลุกคลีอยู่กับฝูงสัตว์ของเธอ ก็อาจจะทำให้เธอเป็นอีกหนึ่งในบรรดาเหล่านั้นไป กลายเป็น "สัตว์ที่ถูกหลงลืม"

ก็ไม่แน่ใจว่าจะสื่อแบบนี้ได้หรือไม่ อย่างที่บอกว่า หนังสือเล่มนี้เปิดให้ตีความเองมาก ๆ ตามใจ และอย่างที่มีคนกล่าวไว้ว่า การอ่านทุกครั้งก็จะเห็นใจความใหม่ ๆ ที่ถูกซ่อนจากผู้แต่งไว้ไม่ว่าจะจงใจหรือไม่จงใจทุกครั้ง

(August 13, 2006)
อื่น ๆ
Wiki - The Forgotten Beasts of Eld
บล็อกหมาเลี้ยงแกะ (ดูคอมเมนต์เพิ่มเติม)
บทวิจารณ์ของ John D. Rateliff ที่วิจารณ์ได้ครอบคลุมและตรงใจมาก ๆ

Saturday, 17 January 2009

Wildwood Dancing by Juliet Marillier (n)

จริง ๆ เล่มนี้ หยิบมาดูเพราะติดใจปกกับชื่อ แล้วพอพลิก ๆ อ่านดู ก็เหมือนจะน่าสนุกพอที่จะติดมือกลับมาอ่านให้จบ โดยเฉพาะเมื่อถูกใจกับการใช้ภาษาทั้งพรรณนาและบรรยายที่ใช้อยู่ผ่านมุมมองคนเล่าเรื่อง



ชนิด : Young Adult / Fantasy/ fairytale retelling
สำนักพิมพ์ : Knopf Books for Young Readers; Reprint edition (March 25, 2008) (Paperback)
จำนวนหน้า : 432 หน้า


เรื่องนี้เล่าผ่านมุมมองและการเล่าเรื่องของสาวน้อย Jenica ลูกสาวคนรองในบรรดา 5 คนของพ่อค้าที่อาศัยอยู่ในทรานซิสวาเนียช่วงทศวรรษที่ 14 ชีวิตในเมืองกลางป่าเขาดูเหมือนจะผ่านไปวันต่อวันอย่างปกติธรรมดา เว้นแต่ว่าป่านั้นจะเป็นป่าลึกลับที่น้อยคนนักจะกล้าย่างกรายเข้าไป และสาวน้อยทั้งห้ามีความลับร่วมกันอยู่ ซึ่งก็คือ ทุกครั้งที่ดวงจันทร์เต็มดวง เด็ก ๆ จะแต่งตัวสวยงาม แล้วก้าวผ่านช่องทางลับ ไปสู่งานเต้นรำของเหล่าภูติพรายในอีกโลกหนึ่ง (Other Kingdom) แล้วใช้ชีวิตรื่นเริง โดยปราศจากความกังวลใจใด ๆ ตลอดทั้งคืน

อย่างไรก็ตาม ชีวิตสนุกสนานสบายใจหมดสิ้นลง เมื่อพ่อ ซึ่งป่วยต้องออกจากบ้านไปอยู่ที่อื่นในช่วงฤดูหนาว และ Cezar ลูกพี่ลูกน้องของห้าสาวซึ่งได้ตำแหน่งหัวหน้าชุมชนมาหมาด ๆ พยายามมีอิทธิพลเหนือทุกคน และเข้ามายึดครองบ้าน โดยอ้างว่าลูกพี่ลูกน้องซึ่งเป็นผู้หญิงไม่สามารถดูแลอะไรเองได้ โดยปราศจากการปกป้องคุ้มครองของผู้ชาย

สำหรับ Jenica เอง ในฐานะลูกสาวคนรองแต่รับผิดชอบที่สุด ต้องพยายามจัดการให้ทุกอย่างเข้าที่ ซึ่งก็ไม่ง่ายเลย โดยเฉพาะเมื่อพี่สาวคนโต Titiana ไปตกหลุมรักกับชายหนุ่มลึกลับที่อาจจะเป็นอันตรายแม้กับตัว Titiana เอง ทำให้ Jenica ต้องรับมือกับทุกอย่างพร้อมกัน - ทั้งดูแลบ้านและทรัพย์สิน ทั้งจัดการกับปัญหาความรักของพี่สาว ทั้งรับมือกับการขยายอิทธิพลของ Cezar ที่มีในบ้านและทรัพย์สินต่าง ๆ ของครอบครัว และต่ออันตรายที่ Cezar จะก่อให้เกิดแก่ Other Kingdom โดยที่ไม่มีใครเคียงข้างเธอเลย นอกจากเจ้ากบลึกลับ Gogu ที่เป็นสัตว์เลี้ยงและเพื่อนคู่ใจ

ไม่เคยอ่านหนังสือของ Juliet Marillier มาก่อน แค่รู้จักเธอผ่านชุด Sevenwaters Trilogy ซึ่งเป็นผลงานสร้างชื่อให้กับเธอเท่านั้น แต่อย่างที่ได้บอกไปตอนต้นแล้วว่าเปิดอ่านดูและติดใจกับวิธีเขียนเล่าเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นทั้งพรรณนาและบรรยายมาก เพราะเห็นภาพแล้วก็รู้สึกว่าใช้ภาษาได้รุ่มรวยเหลือเกิน จึงตัดสินใจซื้อกลับมา

จริง ๆ การหนีไปเต้นรำในตอนกลางคืนในดินแดนลึกลับน่าจะมาจากเรื่อง “เจ้าหญิงเต้นรำสิบสองพระองค์” นะ แล้วการที่เห็นกบ Gogu สัตว์เลี้ยงออกมาพูดอะไรเป็นปริศนามากขึ้นก็ทำให้นึกถึงเรื่อง “เจ้าชายกบ” ขึ้นมาลาง ๆ ซึ่งการอ่านตอนแรกก็ยังไม่ชัดมากจนกระทั่งช่วงหลัง ๆ และที่ตลกดีก็คือ การจัดรูปเล่มและความยาวของหนังสือทำให้กว่าจะรู้ตัวว่าเป็น Young Adult ก็ใกล้จบเล่มแล้ว ซึ่งการผูกเรื่องก็ทำได้ดีล่ะ เพราะเหตุการณ์ที่อยู่ตอนแรก แม้จะดูไม่มีความหมายหรือความสำคัญใด ๆ แต่สุดท้ายมันก็กลายเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดเหตุการณ์อย่างนั้นในที่สุดในตอนจบ ... ซึ่งในแง่หนึ่ง หลายอย่างก็เป็นสิ่งที่ผู้อ่าน (ที่เป็นป้าเกินวัย Young Adult) ตีความและเข้าใจเร็วเห็นมาก่อนล่วงหน้าได้ แต่การอ่านเรื่องระหว่างทางและเห็นจุดสรุปชัดเจนก็บันเทิงใจตอนอ่านขนานไปเสมอ - ถึงแม้ว่าจะมีรอว่าเมื่อไหร่จะเป็นเช่นนั้นเสียทีก็ตาม

ส่วนที่รู้สึกว่าทำได้ดีสำหรับการเป็นนวนิยาย Young Adult ก็คือเรื่อง Coming of Age ซึ่งในเรื่อง เห็นได้ชัดผ่านการละเล่นบันเทิงแรงใจในแต่ละวันของตัวเอก จนกระทั่งเมื่อพ่อป่วยและต้องจากไปที่อยู่ที่อื่นในช่วงหน้าหนาว ก็ทำให้เธอต้องก้าวเข้ามารับภาระของครอบครัว ในแบบฉบับของผู้ใหญ่ที่ต้องรับผิดชอบหน้าที่ของตัวเองอย่างจริงจัง โดยที่ไม่มีใครคอยช่วยเหลือ ซึ่งสิ่งนี้ก็ทำให้เห็นชัดถึงการที่ต้องเติบโต และต้องมีภาระหน้าที่ในชีวิตของเราแต่ละคน ทั้งนี้ การเต้นรำในแดนภูติพราย อาจจะเป็นความบันเทิงไม่กี่อย่างที่เด็ก ๆ จะหาได้ในชนบทที่ห่างไกล แต่ก็เป็นสัญลักษณ์แสดงให้ถึงสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง และไม่จีรัง เปรียบเทียบกับการสนุกสนานของวัยเด็ก ซึ่งถึงแม้ครั้งหนึ่งการเต้นรำในวันดวงจันทร์เต็มดวงเหล่านี้จะเป็นทุกสิ่งทุกอย่างที่เด็ก ๆ ตั้งตาคอย แต่เมื่อเติบโตขึ้น (อย่างน้อยที่สุด ก็ในช่วงท้ายเรื่อง) สิ่งนี้ก็หมดความหมายลงไปทุกที เมื่อแต่ละคนพบชีวิตจริง ๆ และอนาคตที่รออยู่เบื้องหน้า

ประเด็น gender ถูกพูดถึงอยู่ด้วยในหนังสือ หรือจะให้ถูกก็คือ sexism กระมัง โดยเฉพาะเมื่อผ่านสายตาของ Cezar ลูกพี่ลูกน้องที่มองว่าสาว ๆ ทั้งห้าคนมีอิสระกันเกินไป และใช้ชีวิตอย่างที่อยากจะเป็นมากเกินไป ดังที่ Jenica เป็นผู้ช่วยทำบัญชีให้พ่อ และ Paula น้องสาวคนกลางก็ได้เรียนหนังสืออย่างที่ผู้หญิงไม่ควรเรียน ซึ่งประเด็นซึ่งกลายเป็นปมของหนังสือนี้ก็สะท้อนภาพสังคมในทศวรรษที่ 14 ได้ดี ผู้อ่านในปัจจุบัน อาจจะไม่พอใจเมื่ออ่าน แต่จารีตของสังคมก็เป็นเช่นนั้นจริง ๆ ไม่ใช่หรือ ดูอย่างปัจจุบันที่สิทธิเสรีภาพของผู้หญิงก็ยังไม่เทียมเทียบผู้ชายได้เลย

นักวิจารณ์และนักอ่านจำนวนมากบอกว่าเป็นตัวร้ายที่น่าหงุดหงิด อ่านแล้วโมโห เพราะนอกจากจะเป็น sexist แล้ว ยังบ้าอำนาจ และมักแก้ปัญหาด้วยการใช้กำลัง ส่วนตัวก็รู้สึกเช่นนั้นบ้าง แต่ก็อดไม่ได้ที่จะรู้สึกว่าเป็นตัวละครที่น่าจับมาเป็นกรณีศึกษาอีกคน เพราะในใจเจ้าตัวมีแต่ความเกลียด เมื่อมาแก้ปัญหา ความเกลียดนั้นก็กลายเป็นหนทางออกด้วย โดยที่เจ้าตัวก็รู้ แต่ก็ไม่คิดจะแก้อะไร รู้แล้วไม่ทำ กับไม่รู้ไม่สนใจก็ไม่น่าจะแตกต่างกันมาก ว่าไหม?

แต่นั่นแหละ ตัวละครที่ได้รับรางวัลฉันเกลียดแกมากที่สุดก็ยังไม่ใช่ Cezar อยู่ดี (จะว่าไป แบบสงสัยการใช้ชื่อนี้มีที่มา หรือ agenda อย่างไรหรือไม่ พูดถึง Cesar Borgia อยู่หรือเปล่าคะ? – แต่คงไม่ใช่!) แต่เป็นพี่สาวคนโต Titiana ต่างหาก เพราะเมื่อเธอไปตกหลุมรักชายหนุ่มจากต่างภพนั้น เธอปล่อยให้ความรัก ห้วงคำนึง และความลุ่มหลงกลายมาเป็นทุกอย่างในชีวิต และละเลยไม่ใส่ใจหน้าที่และความรับผิดชอบใด ๆ ที่เธอพึงมีพึงทำไป โดยที่ซ้ำร้าย ห้วงคำนึงนั้นก็ได้กัดกินและทำลายเธอไปเสียด้วย ไม่ว่าจะเป็นทั้งความคิด ความอ่าน หรือแม้แต่ตัวเธอเองในที่สุด ทั้ง ๆ ที่อายุก็ไล่เลี่ยกัน แต่ Titiana กับ Jenica ก็เลือกที่จะใช้ชีวิตต่างกัน ครั้งหนึ่ง Titiana เคยบ่นว่าอยากเป็นให้ได้อย่างน้องสาวคือ เป็นคนพึ่งพาได้ (The Sensible one) มากกว่าจะเป็นแค่คนรูปสวย (Pretty one – จะหาคำจริง ๆ ในหนังสือมาให้วันหลัง) แต่เธอก็ได้แต่บ่นและไม่ทำอะไรเลย โดยที่ทิ้งภาระการดูแลครอบครัวและบ้านที่มีร่วมกันไปให้ Jenica เพียงคนเดียว

อดสงสัยว่าน้องคนกลาง Paula ซึ่งเป็นเด็กรักเรียน ตั้งใจหาความรู้ น่าจะมีบทบาทการแบ่งเบาภาระในบ้านมากกว่าที่ควรจะเป็น โดยเฉพาะเมื่อคำนึงจากความรู้ที่มี ก็เลยเกิดตั้งคำถามว่าเป็นเพราะเหตุใด เพราะพี่สาวสองคนอยู่ในวัยที่โตกว่า และดังนั้นน่าจะมีบทบทบาทและรับหน้าที่ดูแลบ้านไปกับแค่สองคนหรือ หรือว่าความรู้ที่เธอมีจะเป็นแค่ความรู้ในตำรา และนอกบริบทที่จะเป็น จนไม่เกิดประโยชน์ ถ้าจะใช้ในการดูแลบ้าน การทำความสะอาด การหุงหาอาหารในแต่ละวัน

จริง ๆ แล้วป่าเองยังมีความลับอีกเยอะ แต่ตัวละครที่น่าสนใจมีมาก อย่าง Costin ชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างหน้ามือเป็นหลังมือ และกลับมาเป็นอย่างเดิมในท้ายที่สุดแล้ว จะมีผลอะไรกับจิตใจเจ้าตัวไหมหนอ การที่เคยทำได้ทุกอย่าง ไม่กลัวทุกสิ่ง เมื่อต้องไปใช้ชีวิตในสภาพที่ไม่ใช่ตัวเองอย่างสิ้นเชิง ตอนนี่สิ่งเหล่านั้นจะเป็นสิ่งที่คอยกัดกิน หรือจะเป็นสิ่งที่ให้เห็นถึงศักยภาพที่อาจมีต่อไปได้กัน แต่อย่างน้อย จุดอ่อนและข้อบกพร่องเล็ก ๆ ในเรื่องตอนจบ ก็แสดงให้เห็นว่า เจ้าตัวก็เป็นคน ที่จะไม่สมบูรณ์แบบพร้อมอย่างเจ้าชายในนิทาน ..... ซึ่งก็สงสัยต่อว่า แล้วเด็กที่อ่านเกี่ยวกับเจ้าชายสมบูรณ์แบบมาตลอดจะคิดอย่างไร

อย่างไรก็ตาม ตัวละครที่ชอบที่สุด ก็คือ Tadeusz หัวหน้าเหล่า Night People นะ ถึงแม้จะมีบทบาทไม่มากก็ตามที (น่าเสียดาย!) ในเรื่อง Tadeusz พยายามล่อลวงและหลอกล่อตัวเอกคือ Jenica ให้เลือกเส้นทางที่สบาย และให้ใช้ความปรารถนาความต้องการของตนเป็นเกณฑ์ ซึ่งตัวละครในเรื่องก็เลยทั้งพูดจริงบ้างโกหกบ้าง รวมไปถึงทั้งพูดความจริงบางส่วนก็ด้วย ก็เลยทำให้สนุกในการคิดตามและคิดต่อ อย่างไรก็ตาม แง่หนึ่งมันก็เหมือนกับการเลือกใช้ชีวิต ว่าเราจะเลือกเส้นทางที่ลำบาก แต่ว่าซื่อสัตย์ และอยู่ในคุณธรรม หรือว่าจะเลือกความสบาย แม้ว่าจะต้องชดใช้ให้กับความเพลี่ยงพล้ำต่ออำนาจความต้องการนั้นในภายหลัง หรือแม้แต่จะให้คนอื่นต้องเดือดร้อนหรือไม่อย่างไร

ป้าแม่มด Draguta ก็เป็นตัวละครอีกตัวที่สนุกสนานไปกับการปั่นหัวตัวละครอื่น ซึ่งเพราะมีอำนาจมาก บางครั้งก็เลยมักจะทำอะไรในลักษณะตามใจฉันเล่นสนุกไปหน่อย ซึ่งบางทีก็ไม่ชอบว่าด้วยความที่มีอำนาจมาก และรู้มากก็คิดว่าคนอื่นจะต้องเลือกหนทางที่ถูกที่ควรอย่างที่ตัวเองต้องการไปด้วย หรือแม้แต่วางการบ้านให้ตัวละครในเรื่องคิดตาม เดินตาม ... แต่อีกแง่หนึ่งก็อาจเป็นเพราะเชื่อในศักยภาพที่ว่าทำได้ และสามารถของคนอื่นได้ไหมหนอ?

อย่างไรก็ตาม ก็ได้สั่งเล่มต่อที่คิโนะไว้แล้ว เท่าที่หาดูพบว่า Cybele's Secret จะพูดถึงเกี่ยวกับ Paula น้องคนที่สาม สนุกหรือไม่อย่างไรก็คงรู้กัน

ปล. งวดนี้เขียนยาวชะมัด!

ปล. เกือบลืมไปเลย ว่าชอบปกมาก คนวาด คือ Kinuko Y. Craft วาดได้สวย และเก็บรายละเอียดของหนังสือดีมาก ๆ โดยเฉพาะถ้าเทียบกับการเลือกปกวาดปกของหลาย ๆ คนทีหน้าปกกับเนื้อหาข้างในไม่ได้ไปทางดียวกันแต่อย่างใด งานวาดของเจ้าตัวค่อนข้างเป็นเอกลักษณ์ ดูนุ่ม สวยเย็น และมีมิติของเวทย์มนต์อยู่ในตัว เห็นงานครั้งแรกจากปก Od Magic แต่เล่มนี้สวยกว่ามากจริง ๆ .. ถึงขั้นว่าหลงรักงานเลย :D :D :D

เพิ่มเติม (150209)

อ่าน Cybele's Secret แล้วชอบมากๆๆ ดูวิจารณ์ได้ ที่นี่

Saturday, 3 January 2009

Glass Houses By Rachel Caine


Glass Houses (The Morganville Vampires Book One)
By Rachel Caine
ชนิด : Supernatural Fantasy (Young Adult)
สำนักพิมพ์ : NAL Jam (US)/ Signet Book(UK) (Oct 2006)
จำนวนหน้า : 248 หน้า

จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อย้ายไปเรียนต่างเมือง แล้วพบว่าสิ่งที่หนักหนาที่สุดของสาวน้อยอัจฉริยะอายุ 16 ปีอย่าง Claire ไม่ใช่แค่ปรับตัวให้เรียนรู้กับการอยู่คนเดียว หรือแค่เรียนให้ดีเพื่อย้ายไปสู่มหาวิทยาลัยอันดับต้น ๆ ของประเทศอีกต่อไป หากแต่เป็นการเอาตัวให้รอดจากเพื่อนร่วมหอพัก และที่สำคัญ ... จากคนในเมือง!

หนังสือเล่มนี้เปิดตัวที่ Claire กำลังเผชิญการกลั่นแกล้งจาก Monica สาวสวยอารมณ์ร้ายหัวหน้ากลุ่มสาวเปรี้ยวอยู่พอดี และการกลั่นแกล้งร้ายกาจนี้ก็รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ จนสาวอัจฉริยะของเราต้องตัดสินใจย้ายออกจากหอพักหลังการเจ็บตัวหนักจากการกลั่นแกล้งครั้งสุดท้าย โชคเหมือนจะเข้าข้างเธอเมื่อ Claire พบประกาศหาเพื่อนร่วมบ้านที่น่าจะลงตัวได้ บ้านหลังใหญ่ ค่าเช่าไม่แพง และเพื่อนร่วมบ้านนิสัยดี จะมีอะไรลงตัวไปกว่านี้?

แต่นั่นเป็นก่อนที่เธอจะค่อย ๆ ได้รู้จักกับความลับของเมืองเล็ก ๆ ที่เป็นตัวเลือกน่าสนใจเพราะใกล้บ้าน และปลอดภัย ว่าไม่ได้เป็นเหมือนที่เธอและครอบครัวคิดไว้ตอนแรก เพราะ Morganville เป็นเมืองที่ถูกปกครองโดยเหล่าผีดูดเลือด และการที่สาวน้อยของเรามาจากต่างเมืองก็หมายความว่า เธอไม่มีคนดูแลหรือสังกัดใด ๆ และพร้อมจะเป็นอาหารว่างของผีดูดเลือดตัวใดก็ได้ทุกเมื่อ!

ซ้ำร้าย การกลั่นแกล้งจากกลุ่มสาวนิสัยเสียก็ยังไม่สิ้นสุด Claire ไม่มีทางเลือกนอกจากจะพยายามประคองตัวเองให้รอดด้วยความช่วยเหลือของเพื่อนร่วมบ้านทั้งสามที่กลายมาเป็นเพื่อนและพันธมิตรกลุ่มเดียวในเมืองที่เธอมี - ไม่ว่าจะเป็น Shane ชายหนุ่มอารมณ์ร้อนตัวโต Michael หนุ่มเยือกเย็นแต่ก็อ่อนไหว และ Eve สาวแกร่งที่ชอบแต่งตัวในชุดดำ

เมื่อแรกหยิบหนังสือมา ความสนใจแรกก็คือ Rachel Caine คนเขียนที่โด่งดังมาจากชุด Weather Warden ที่ติดตามอ่านมาตลอด แต่เมื่อได้พลิกอ่านไปก็สนุกและน่าสนใจด้วยตัวเนื้อหาเอง เนื่องจากชื่อ Morganville Vampires ทำให้คิดว่าเป็นแค่นิยายเกี่ยวกับผีดูดเลือดอีกเรื่องหนึ่งที่ไม่น่าจะต่างไปจาก Buffy หรือ Anita Blake ที่เป็นเรื่องของสาวน้อยไฮสคูลตะลุยฆ่ากองทัพผีดูดเลือดใด ๆ เลย แต่ทว่ากลับกลายเป็นว่าในเรื่องนี้ ตัวเอกของเรากลายเป็นผู้ถูกล่าเสียเอง และในจุดนี้ถือว่าเป็นจุดเด่นที่สำคัญที่สุด เพราะเป็นการเปลี่ยนความคิด สลับมุมมองจากกระแสนิยายผีดูดเลือดกระแสหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อวางโครงเรื่องให้ผีดูดเลือดกลายมาเป็นโครงสร้างอำนาจ และฐานระบบของสังคมที่จะท้าทายไม่ได้ ซึ่งตามมาด้วยการวางโจทย์ของเรื่องให้ตัวละครหลักพยายามที่จะอยู่รอดในสังคมตามแบบฉบับและความเชื่อของตนเอง โดยที่ไม่ไปต้านทานหรือสวนความเป็นไปที่เกิดขึ้นให้ได้

อีกสิ่งหนึ่งที่ถือว่าโดดเด่นสำหรับ Caine ก็คือการวางลักษณะนิสัยของตัวละครหลักให้แตกต่างไปจากเดิมโดยสิ้นเชิง โดยไม่ติดกับดักโครงเรื่องและตัวละครแบบของตนอย่างที่นักเขียนส่วนใหญ่เป็น การวางบุคลิกของ Claire ต่างจาก Joanne ทำให้ได้เห็นตัวละครที่ต้องสู้ด้วยการใช้สมองและการวางแผน เพราะเป็นสิ่งเดียวที่เธอมีอยู่ในตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อ Claire เป็นแค่เด็กนักเรียนธรรมดาที่เรียนเก่ง แม้ว่าจะเก่งมาก แต่ก็ไม่ใช่สาวบู๊แข็งแรงที่พร้อมจะป้องกันตัวและเปิดการโจมตีผีดูดเลือดหรือกลุ่มเพื่อนได้ด้วยตัวเอง

จุดอ่อนอย่างเดียวที่พบในหนังสือ ก็คือ Glass Houses ถูกเขียนสำหรับเป็นหนังสือหมวด Young Adult ทำให้เมื่ออ่านไปพบว่า บางจุดขาดความลึกซึ้งน่าเชื่อถือไป แต่หากจะอ่านเอาสนุกมากกว่าอ่านเพื่อจับผิดแล้วล่ะก็ Glass Houses เป็นหนังสือสนุกน่าอ่านอีกเล่มเลยทีเดียว!