Friday, 23 January 2009

Od Magic by Patricia A. McKillip (n)

ซื้อมาเพราะติดใจ The Forgotten Beasts of Eld เมื่อเจอหนังสือจากนักเขียนคนเดียวกัน (Patricia A. McKillip) ก็เลยไม่เแปลกอะไรที่จะคว้ากลับมา .. แต่ก็ต้องสารภาพว่าอ่านค้างไว้ครึ่งเล่มมาเป็นปีแล้ว เพิ่งจะได้อ่านจนจบนี่แหละ


ชนิด : Rich Fantasy
สำนักพิมพ์ : Ace Trade (June 6, 2006) (Paperback)
จำนวนหน้า : 320หน้า
(ราคาเต็มคิโนะ : 489 บาท)


Brenden ผู้มีความพิเศษในการสื่อสารกับต้นไม้ต่าง ๆ อาศัยอยู่อย่างเงียบเหงาเพียงลำพังหลังพ่อและแม่ตายจาก และพี่ชายกับคนรักออกเดินทางไปจากบ้าน วันหนึ่ง Od หญิงร่างยักษ์ท่าทางแปลกที่มีฝูงสัตว์จำนวนมากอาศัยอยู่บนตัวเธอ ได้เดินทางมาหาเขา และขอให้ Brenden ไปเป็นคนสวนในโรงเรียนเวทย์มนต์ของเธอ

ทุกอย่างดูเหมือนจะเป็นเรื่องปกติธรรมดา หากแต่พระราชากำลังหวาดเกรงว่าเวทย์มนต์ที่มีอยู่ในโรงเรียนและในอาณาจักรจะเกินการควบคุมและเป็นอันตรายต่ออำนาจของตัวเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อ Tyramin นักมายากลชื่อก้องมาเปิดการแสดงที่เมือง และเมื่อรับรู้ว่า Brenden อาจมีอำนาจมากกว่าที่เห็น..

พอย่อให้สั้นแล้วเหมือนจะไม่สามารถร้อยเรียงความลึกล้ำของ Od Magic ออกมาได้เลย เพราะพล็อตเรื่องดูเหมือนจะง่าย แต่จริง ๆ มีอะไรมากกว่านี้เยอะ โดยเฉพาะตัวละครหลักที่เข้ามามีบทบาทต่าง ๆ กัน (ซึ่งหนังสือเล่มนี้ก็พูดถึงความเชื่อมโยงเกี่ยวพันตัวละครเหล่านี้เสียด้วย) ซึ่งนอกจาก Brenden ตัว Od และพระราชา Galin แล้ว ก็ยังมี Yar ครูสอนเวทย์มนต์ของโรงเรียน ซึ่งนับวันก็เรียกร้องหาความเป็นอิสระที่นอกเหนือจากที่อำนาจของอาณาจักรจะมีให้ Arneth ผู้ดูแล Twilight Quarter ที่เบื่อหน่ายกับข้อผูกมัดจากพ่อและจากตำแหน่งงาน Mistal ลูกสาวแสนสวยของนักมายากลที่เต็มไปด้วยความลึกลับ Ceta หญิงสูงศักดิ์คนรักของ Yar ผู้ที่อยู่ในกรอบของกฎเกณฑ์ก่อนที่จะเปิดตารับความจริงที่เจอ Sulys เจ้าหญิงผู้แสวงหาที่อยู่ของตัวเอง และคนที่จะพร้อมจะเข้าใจ ขณะที่เรียนรู้ที่จะเติบโต Valoren ผู้ใช้เวทย์มนต์และข้ารับใช้ของกษัตริย์ ซึ่งคิดว่าความรู้จะทำให้เขาควบคุมสิ่งต่าง ๆ รอบตัวได้จนละเลยความเข้าใจหรือจิตใจไป (ฟังดูทุกคนย่อมมีปัญหาของตัวเอง วุ่นวายแท้หนอ .. แม้ปัญหาจะสะสางได้ตอนจบก็ตามที)

จริง ๆ หลักของหนังสือเล่มนี้ก็คือการเข้าใจและยอมรับโลกอย่างที่เป็น แทนที่จะมองอย่างที่เราอยากให้เป็น โดยเห็นได้ชัดที่สุด ก็คือตัวพระราชาเอง ที่กลัวว่าเวทมนต์จะมีอำนาจมากเกินไป จนคานหรือแม้แต่เอาชนะอำนาจของอาณาจักรได้ (เหมือนกันข้อถกเถียงเรื่อง ศาสนจักรกับอาณาจักร อันที่จริง) ทำให้พยายามควบคุมอำนาจทางฝ่ายเวทย์มนต์ไว้ด้วยการครอบงำ และมีอำนาจเหนือ ซึ่งรวมไปถึงการสอนให้อีกฝ่ายเชื่อในสิ่งที่ตนเองเชื่อ และปฏิบัติตามในสิ่งที่ต้องการต้องการ จะเห็นได้ว่า ขณะที่อาณาจักรอื่นรอบข้างเปิดใจและเปิดกว้างรับสิ่งเหล่านี้ หากในอาณาจักร คนจะเรียนในสิ่งที่นอกเหลือไปจากที่มีในบทเรียนไม่ได้ และผู้มีอำนาจเวทมนต์หากไม่เข้าเรียนในโรงเรียน ก็จะถูกล้างสมอง หรือถูกเนรเทศให้ออกจากอาณาจักรไป

ในแง่หนึ่ง การยอมรับเช่นนี้ก็รวมมาถึงในระดับปัจเจกบุคคลด้วย ดังที่ตัวละครหลายตัวถูกบังคับให้เชื่อและทำในสิ่งที่สังคมต้องการ ไม่สามารถผิดไปจากสังคมได้ แม้ว่าความเชื่อของสังคมจะเป็นสิ่งที่ผิดแปลกขนาดไหนก็ตาม และกลับกลายเป็นว่าความเชื่อของสังคมที่ผิดแปลกไปเป็นเรื่องปกติไปเสียด้วย อย่างตัว Yar ที่เข้ามาอยู่ในโรงเรียนซึ่งเป็นที่อยู่ของเหล่าลูกหลานชนชั้นนำและเศรษฐีได้ เพราะความสามารถและศักยภาพทางเวทย์มนต์ที่เขามี แต่ศักยภาพนั้นก็ถูกครอบงำและถูกกำหนดให้ไปเป็นในทิศทางอย่างที่โรงเรียนต้องการ อย่างที่พ่อมดเองก็ยอมรับอยู่ในภายหลังว่า เขาได้หลงลืมเด็กชายคนที่เดินเข้ามาที่โรงเรียน และกลายเป็นคนอื่นไป และโดยเฉพาะเมื่อกลายเป็นอาจารย์ในโรงเรียน ที่ทำให้เขาได้ลืมแม้กระทั่งการตั้งคำถามถึงความเป็นไปได้กับสิ่งรอบตัว แม้ว่าสิ่งนี้จะเป็นสิ่งที่ครั้งหนึ่งเคยมีอยู่ในตัวเขาก็ตาม และแม้เมื่อมีเด็กนักเรียนที่กล้าตั้งคำถามถึงสิ่งที่ต่างออกไป และ Yar ตอบให้เด็กเข้าใจด้วยมุมมองที่แตกต่างไปจากที่โรงเรียนสอน เขาก็ถูกเพ่งเล็งจากข้ารับใช้ของกษัตริย์

วิธีดำเนินเรื่องหนังสือเล่มนี้เหมือนกับ The Forgotten Beasts of Eld ที่ตัวละครผ่านการเดินทางเพื่อค้นหาให้เข้าใจและค้นพบตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นตัวละครใด แม้กระทั่งพระราชาก็ได้เปลี่ยนแปลงมุมมองชีวิต ทัศนคติและเข้าใจตัวเองเมื่อตอนจบทั้งสิ้น (ซึ่งอาจจะแตกต่างจาก The Forgotten Beasts of Eld ที่เน้นที่ตัวละครเอกสองตัวที่เข้าใจและเปลี่ยนแปลงตัวเองจากกันและกันในแง่หนึ่ง) ตัวละครที่ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกัน ถูกตัว McKillip นำมาถักทอร้อยไว้ด้วยกัน และกลับมาความสำคัญต่อตัวละครที่เหลือจนกระทั่งเปลี่ยนแปลงตัวละครอื่น ๆ ได้ โดยมีตัว Od เป็นศูนย์กลาง

ประเด็นหนึ่งที่ชอบมากก็คือการตั้งคำถามของตัว Yar เอง ซึ่งการที่เขาได้เข้ามาในโรงเรียนนี้ก็เพราะได้พิสูจน์ถึงความสามารถของตัวเองจนผู้อื่นยอมรับ แม้วีรกรรมและโอกาสอันเหลือเชื่อนี้ก็เป็นสิ่งที่เด็ก ๆ เล่าขานถึงด้วยความตื่นเต้นกึ่งเพ้อฝันที่จะได้มีโอกาสอย่าง Yar แต่สำหรับเจ้าตัว สิ่งนี้อาจจะเป็นการจำกัดมากว่าโอกาสก็ได้ อย่างที่บอกไว้ในหนังสือว่า เป็นเพราะพระราชาหวาดกลัวอำนาจที่เขามี และดังนั้นการให้เข้าเรียนก็ไม่ใช่เพื่อเปิดโอกาส แต่เป็นเพื่อการจับตาดูอย่างใกล้ชิด และเพื่อให้ควบคุมเขาให้ได้ ... หนังสือวันนี้พูดถึงคำว่า ควบคุม ครอบงำ และการมีอำนาจเหนือมาก ซึ่งจริง ๆ สิ่งเหล่านี้ก็คือหัวใจของ “การเมือง” และ McKillip ก็อธิบายธรรมชาติของการเมืองนี้ได้ดีเสียด้วย

จุดเด่นของ McKillip ที่เด่นชัดอีกอย่างก็คือ การจินตนาการ และการมอบจินตนาการนั้นแก่ผู้อ่านเพื่อที่จะตีความและต่อยอดต่อไปเองตามที่ McKillip ชี้แนวทางให้ผ่านการใช้ภาษาสละสลวย พรรณนาความ อย่างชื่อ Od ก็คือว่าเป็นการเล่นเสียงคำว่า Odd ที่แปลว่าแปลกประหลาด ซึ่งแปลกประหลาดในความหมายนี้ ก็ขึ้นอยู่กับการตีความของเราเอง

บางทีสิ่งที่ดูเหมือนจะไม่มีอะไร ก็ดูมีอะไรซ่อนอยู่เช่น บทสนทนาของ Valoren ที่ปรึกษาและข้ารับใช้ของกษัตริย์กับ Sulys เจ้าหญิงที่ถูกให้หมั้นหมายกับเขา

“Why do you care?” he asked so astutely that again she was wordless. He waited for an answer; she found herself retreating hastily, hiding herself from him.

“I don’t,” she said, shortly. “Why would I care about matters – “

“It’s what don’t know that matters.”

“Small things point the way to more complex things that could possibly be dangerous…” (หน้า 110)

แต่บทที่ชอบและประทับใจที่สุดในหนังสือเล่มนี้ กลายเป็นบทสนทนาระหว่าง Arneth กับ Mistal เมื่อ Arneth กำลังสับสนระหว่างความรู้สึกของตัวเองกับหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบ หลังได้รู้ความลับของ Tyramin นักมายากลผ่านจากเธอ และบอกให้เธอไปให้พ้นจากเขา

“No one,” she heard herself saying then, “outside of my little traveling world has ever seen all of my faces before.”

She saw his taut face loosen, the beginnings of his smile. “I’m enchanted by them all,” he confessed simply.

“Even this one? My plainest face?”

“Especially that one. All the mysteries are hidden behind it”

He didn’t move, nor did she. The air itself seemed to become a hand, reach out to touch her. (หน้า 212)

มาอ่านดูเหมือนไม่มีอะไร แต่ถ้าอ่านระหว่างบรรทัดดี ๆ เป็นการสารภาพความรู้สึกระหว่างคนสองคน และเป็นการสารภาพรักที่ดูลึกซึ้งโดยที่ไม่ต้องใช้คำว่า รัก หรือ ชอบ มาบอกเลย

โดยรวม หนังสือเล่มนี้ควรอ่านเมื่อมีเวลาและมีความอดทน (แปลง่าย ๆ ว่ามีเวลาสบายใจ) เพราะจะอ่านงานของ McKillip อย่างผ่าน ๆ พรืด ๆ ก็จะพบว่าไม่สนุก เพราะดูว่ายืดยาด ไม่กระชับ แต่ว่ามีเวลาซึมซับ ทำความเข้าใจระหว่างบรรทัด ระหว่างย่อหน้าจะพบเรื่องราวและรายละเอียดอยู่มาก โดยเฉพาะเมื่อตัวละครของ McKillip มีความเป็นมนุษย์สูง และมีแรงจูงใจที่จะทำการใด ๆ อย่างสมจริง ซึ่งก็ต้องใช้เวลาในการเข้าใจบุคลิกตัวละครเหล่านี้อยู่เหมือนกัน และโดยเฉพาะเมื่องานทุกเล่มของเธอมีสาส์นที่ตัวเธอเองต้องการส่งผ่านมาเพื่อให้ผู้อ่านได้ทำความเข้าใจและเปิดโลกทรรศน์เสมอ ... อย่างที่ Sir Francis Bacon บอกว่า “... and some few to be read wholly, and with diligence and attention.”

ปล. คอมเมนต์ยาวอีกแล้ว เป็นอะไรไปหลังจาก Wildwood Dancing คะ?

No comments:

Post a Comment