Tuesday, 20 July 2010

Darkness Calls by Marjorie M. Liu

ซื้อเล่มสองมาเพราะชอบเล่มหนึ่ง


ชนิด : Urban Fantasy/ Huntress/ Demon
ชุด : Hunter Kiss, Book /
สำนักพิมพ์ : Ace (Jun 30, 2009)
จำนวนหน้า : 320หน้า

จากความวุ่นวายเล่มที่แล้ว เล่มนี้เปิดฉากมาเหมือนจะปกติ ยกเว้นแต่ว่า มีคนจากโบสถ์มาตามหาตัว Grant คนรักของ Maxine และขอให้เขาเดินทางไปด้วยเพื่อช่วยเหลือคนที่เคยเป็นเพื่อนของ Grant ซึ่งแม้สถานการณ์จะอันตราย แต่ Grant ก็ไม่มีทางเลือก และตัว Maxine เองก็ต้องปล่อยให้ Grant ไป ในระหว่างนั้นเอง ปู่ของ Maxine ก็เตือนเธอถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับ Grant และเปิดมิติให้เธอเดินทางไปหา Grant ในอีกทวีป

หากแต่ Mr. King ก็ยังตามล่าตัว Maxine อยู่ และอันตรายที่ตามมาก็มีมากกว่าที่ทั้งคู่คาดคิดไว้มากนัก ทั้งหมดจึงต้องหนีการไล่ล่าไปเรื่อย ๆ

ย่อเรื่องได้แค่นี้ เพราะจำไม่ได้ และเพราะไม่รู้เรื่อง ในบรรดาหนังสือแนวนี้ที่อ่าน เล่มนี้เป็นความผิดหวังที่สุดเล่มหนึ่ง จากเล่มที่แล้ว ปมปัญหาที่เปิดไว้มหาศาลในเล่มที่แล้ว ไม่ได้ถูกตอบแม้แต่ข้อเดียว และที่สำคัญ ยังเพิ่มความสับสนใหม่ในเล่มนี้เข้าไปเสียด้วย ทุกคนในเล่มมีความเป็นมาที่ยิ่งใหญ่ และมีความสำคัญยิ่งใหญ่ แต่ไม่มีการพูดถึงว่าเป็นอะไร และเป็นมาอย่างไร ทำให้คนอ่านสงสัยและสับสนต่อไป ดังเช่น เราได้รู้อดีตเกี่ยวกับครอบครัวของ Maxine และความเกี่ยวข้องของเธอกับปู่แล้ว เล่มนี้ หนังสือยังพูดถึงต่อไปอีก ถึงความสำคัญของปู่ของเธอ ในฐานะที่ “เกือบจะ” เป็นเทพเจ้าในอดีต และเปิดประเด็นใหม่ ถึง Mary หญิงชราจรจัดที่ Grant ดูแลในเล่มที่แล้ว ว่าเป็นคนเลี้ยงดู Grant มาตั้งแต่เด็ก และเป็นคนซ่อนเขาไว้ในโลกมนุษย์ เพื่อจะหลีกหนีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่คนของ Grant เจอ ซึ่งทำให้ เขากลายเป็น คนสุดท้ายในตระกูล หรือ The last of his line อย่างที่หนังสือพูดถึงไปมา แต่ไม่บอกความสำคัญหรือนัยใด ๆ จากสิ่งนี้เลย นอกจากนี้ ยังพูดถึงเด็กจรจัดที่ Maxine และ Grant ดูแลว่าเป็นอะไรสักอย่างที่หลงลืมอดีตและที่มาของตัวเอง และต้องคอยหวาดกลัวอยู่เสมอ ฯลฯ

ทั้งนี้ สิ่งที่ทำให้น่าผิดหวังยิ่งขึ้นนอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้นก็คือ เล่มนี้ไม่มีอะไรนอกจากการหลบหลีการไล่ล่า/ ไล่ฆ่าของ Maxine และพวก ซึ่งเป็นการหนีไปเรื่อย ๆ และหอบหิ้วคณะทั้งหลายที่ได้กล่าวมาด้วย กลายเป็น the endless tiring chase of the vague nothingness เพราะนอกจากจะวิ่งไป หนีไปโดยที่ไม่รู้อะไรแล้ว การที่ต้อง “หอบหิ้ว” คนทั้งหมดไปด้วยก็ทำให้วุ่นวายและน่าเหนื่อยหน่ายอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเมื่อฉากวิ่งวุ่นนี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า

อ่านไปเมื่อปีที่แล้วพอดี และที่รีวิววันนี้ก็เพราะเห็นว่าเล่มใหม่ใกล้จะออกแล้ว แต่คิดว่าคงไม่อ่านต่อ เล่มนี้ให้คะแนนที่ D+ (คิดยากมาก เพราะไม่เคยให้คะแนนหนังสือต่ำขนาดนี้มาก่อน นอกจาก Night's Rose)

This Heart Of Mine by Susan Elizabeth Phillips

เรื่องของ Molly น้องสาวต่างแม่ของ Phoebe




(หาปกที่มีไม่ได้)

ชนิด : Romance/ Comtemporary
สำนักพิมพ์ : Avon (February, 2002)
ชุด : Chicago Stars


ตั้งแต่เด็ก Molly แอบชอบ Kevin ผู้เล่นของทีม Chicago Stars มาตลอด แต่เขาไม่เคยเห็นเธอเลย และสิ่งที่เขาสนใจก็มีเพียงฟุตบอลกับกีฬาบ้าระห่ำเท่านั้น อย่างไรก็ดี เธอแอบย่องเข้าหา Kevin .ในคืนหนึ่ง เมื่อทั้งคู่อยู่กันตามลำพังโดยบังเอิญ

ความคิดชั่ววูบมีผลกระทบมากกว่านั้น เมื่อ Molly ท้องขึ้นมา และ Phoebe กับ Dan ก็บีบบังคับให้ Kevin รับผิดชอบกับสิ่งที่พวกเขาคิดว่านักกีฬาหนุ่มทำลงไป หากหลังแต่งงาน Molly แท้ง และทั้งคู่ก็แยกจากไปกัน ก่อนที่ Kevin จะพบว่า เธออยู่ในสภาวะหดหู่หลังการสูญเสียลูกในท้อง และเมื่อเขาต้องเดินทางไปดูที่ดินของครอบครัว เขาจึงตัดสินใจพา Molly ไปด้วย

ช่วงเวลาที่อยู่ด้วยกันทำให้ทั้งคู่ได้เห็นตัวตนของอีกฝ่ายอย่างที่เป็น และก็ทำให้ทั้งคู่ตกหลุมรักกันจริง ๆ

ในบรรดาสามเล่มที่อ่านคิดว่าตัว Molly เป็นเด็กที่สุด และในแง่หนึ่งก็รับผิดชอบตัวเอง (รวมไปถึงมีความคิดเคารพตัวเอง) น้อยที่สุดด้วย ตั้งแต่เด็ก เธออยากได้ความรักจากพ่อ และพยายามเรียกร้องผ่านการเป็น “เด็กดี” ทั้งจากความประพฤติ และการเรียน ซึ่งแม้ภายหลัง การที่เธอได้รับความรักจากพี่สาวและพี่เขย ซึ่งกลายมาเป็นครอบครัวของเธอจริง ๆ “ปม” ตัวนี้ก็ไม่หมดไป เพราะตัวตนของเธอที่คนรอบข้างรับรู้และเข้าใจก็คือการเป็นเด็กดี -เรียบร้อย เชื่อฟัง และเรียนเก่ง- และดังนั้น ความรับรู้ที่กลายมาเป็นความคาดหวังกลาย ๆ เช่นนี้ก็กดดันเธอจนแสดงออกผ่านพฤติกรรมต่อต้านสังคมอยู่เป็นระยะ ๆ ไม่ว่าจะเป็นกดกริ่งเตือนไฟ หรือแม้แต่การบริจาคเงินมรดกส่วนของเธอเพื่อการกุศล ซึ่งทำให้ไม่ชอบที่หนังสืออธิบายว่า การแสดงโต้ตอบสังคมของ Molly เป็นเพื่อทดสอบความรักของพี่สาวและพี่เขยว่าเป็นแบบไม่มีเงื่อนไข เพราะส่วนตัว มองว่าพฤติกรรมเหล่านี้ของเธอไม่ได้เป็นไปเพราะทดสอบความรัก แต่เป็นเพื่อระบายความคาดหวังที่คนรอบข้างมีต่อตัวตนที่เธอกลายมาเป็นมากกว่า

ดังนั้นแล้ว โดยเนื้อแท้ Molly อาจจะโชคดีกว่าพี่สาว ที่ที่เริ่มต้นชีวิตด้วยจุดสะดุดชีวิตที่น้อยกว่า และภายหลังมีคนให้ความรักและความเอาใจใส่จริง ๆ แต่ในแง่หนึ่ง สิ่งนี้ก็กลับมากดดันตัวเธอด้วย เมื่อไปเปรียบเทียบกับพี่สาวในแง่ความสำเร็จ แล้วกลายเป็นว่าตัวพี่เองประสบความสำเร็จและพิสูจน์ตัวเองผ่านการเข้ามาเป็นเจ้าของทีมฟุตบอลได้ แม้จะมีการต่อต้านและตั้งแง่ของคนรอบข้าง ความสุขในชีวิตครอบครัว ขณะที่ในเวลาเดียวกัน ก็มีรูปร่างหน้าตาและมีเสน่ห์ดึงดูดใจสูง

การได้พบตัว Kevin อาจจะเป็นการหมุนออกไปจากกรอบที่เธอสร้างขึ้นเพื่อขังตัวเอง การพบกันของทั้งคู่ (หรือเรียกให้ถูก ก็คือ จุดเริ่มที่ Molly เองเริ่มแอบชอบ Kevin) มีอยู่ในเล่มก่อนของชุด ซึ่งไม่ได้อ่าน และดังนั้น ก็ไม่สามารถให้เล่มนั้นเป็นหลักต่อยอดมาได้ แต่ถ้าจะวิเคราะห์ไปเอง เสน่ห์ดึงดูดเธอเข้าไปก็คือ การกล้าที่จะท้าทายกฎระเบียบ และหลุดไปจากความคาดหวังใด ๆ ของคนรอบข้าง ซึ่งเป็นสิ่งที่เธอแสวงหาอยู่ในใจ แต่ไม่สามารถแสดงออกมาได้ หรือหากจะแสดงออกมาก็เป็นไปโดยการใช้นิทานของเธอเป็นสื่อ

หลังการพบกัน และได้อยู่ด้วยกัน จะเห็นได้ว่า เธอเริ่มกล้าที่จะสู้เพื่อตัวเอง และลุกขึ้นมาทำตามสิ่งที่ตัวเองเชื่อมากขึ้น จุดนี้สะท้อนจากการที่บรรณาธิการของเธอขอร้องเกินกว่าเหตุให้เธอแก้ภาพในนิทานให้เป็นไปตามที่กระแสสังคมเพ่งเล็ง และแม้เธอจะไม่ต้องการทำตาม ก็ไม่สามารถปฎิเสธไปตรง ๆ และกลับต้องมาทุกข์ทรมานใจเอง แต่ภายหลัง เธอก็กล้าจะปฎิเสธและแม้กระทั่งตัดสินใจออกมาพิมพ์เอง

อย่างไรก็ตาม เมื่อมองย้อนกลับไปถึงบุคลิกและสิ่งที่สะท้อนอยู่ในใจของ Molly จึงเริ่มเข้าใจได้ว่าทำไมเธอถึงคิดที่จะ “ย่อง” เข้าหาพระเอก ทั้งที่ตอนแรกรู้สึกว่า เป็นความคิดที่ชั่ววูบ และไม่รับผิดชอบ จนถึงขั้นทำให้ไม่ชอบอย่างยิ่งได้ เพราะทั้งนี้ อย่างที่ได้เขียนไปว่า เนื้อแท้ของเธอเป็นคนที่กล้าลุย กล้าได้กล้าเสีย และที่สำคัญ มีความคิดเสี่ยวตายและท้าทายโลกในหัวมากกว่าตัวตนที่เธอเป็นอยู่ และตัวตนที่เธอแสดงออกมากนัก

ขณะที่ Kevin สภาพครอบครัวที่เข้มงวด และการที่ได้รับรู้ว่าตัวเองไม่ใช่ลูกที่แท้จริงของครอบครัว ทำให้เขาสร้างวินัยที่เข้มงวด และอยู่ในกรอบที่ตัวเองตั้งไว้เพื่อจะให้ตัวเองก้าวไปข้างหน้าและประสบความสำเร็จได้ ซึ่งขณะเดียวกันสิ่งนี้ก็กลับมาทำให้เขากดดันตัวเองจนหันไปหากีฬาเสี่ยงตายเป็นทางระบายออก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การที่ได้รู้ความจริงเกี่ยวกับแม่ของตัวเอง และความเข้าใจผิดว่าตัวเองถูกแม่ที่ให้กำเนิดปฎิเสธ ก็ทำให้เจ้าตัวกลัวการผูกมัด และกั้นกรอบตัวเองไว้จากความสัมพันธ์จริงจังใด ๆ ที่เกิดมี โดยหันไปหาความสัมพันธ์ชั่วครั้งชั่วคราวเป็นทางเลือกให้ชีวิต อย่างที่ Molly ค่อนแคะว่า Kevin เลือกคบแต่นางแบบต่างชาติที่ความสามารถการภาษาอังกฤษต่ำ เพื่อหลีกเลี่ยงความสัมพันธ์ที่มากขึ้น และจริงจังขึ้นก็เป็นเรื่องจริง

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าบุคลิกพระเอกทั้งสามเล่มจะไม่ค่อยแตกต่างกันมากกัน – หน้าตาดี เป็นนักกีฬาดาวรุ่ง ฐานะดี เสน่ห์แรง ความมั่นใจในตัวเองสูง (และลึก ๆ มีปมปิดกั้นตัวเองจากสัมพันธภาพไม่มั่นคงกับแม่ (และพ่อ)ในวัยเด็ก – แต่สิ่งที่ทำให้ Kevin น่ารัก และ “รัก” ได้ก็คือ ความรับผิดชอบที่เขามีต่อ Molly การกระทำของเธอ และผลที่เกิดขึ้นไม่ใช่ความผิดของ Kevin เลย แต่เขาเลือกที่จะรับผิดชอบสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการแต่งงาน หรือแม้แต่การ “ดูแล” เธอจากสภาพหดหู่ที่เกิดหลังการแท้ง ทั้งที่สิ่งเหล่านี้ เขาสามารถเลือกที่จะเดินหนีได้ และก็ทำให้ภาพลักษณ์ของเขาในสายตาคนอ่านเรื่องมาก (รู้สึกว่าถ้าตั้งชื่อบล็อกภาษาอังกฤษ จะต้องเรียกตัวเองว่า Fussy Reader เป็นแน่)

เพราะความชอบที่ Molly มีต่อ Kevin ทำให้สาวเจ้าแสดงกริยาท่าทีแปลกประหลาด และไม่ใช่ตัวตนเธอตลอดเวลา และสิ่งเหล่านี้มีผลให้มุมมองของ Kevin ที่มีต่อตัวเธอผิดเพี้ยนตามไปด้วย และดังนั้นเงื่อนไขที่ทั้งสองคนจะต้องใช้ชีวิตร่วมกันที่รีสอร์ทก็ทำให้ทั้งคู่ได้เห็นตัวตนของอีกฝ่ายอย่างแท้จริงด้วย สิ่งที่ชอบก็คือ Molly ตรวจจับอารมณ์และความหงุดหงิดของ Kevin ได้เสมอ (ซึ่งถ้าคิดว่าเธอหลงรักเขาตลอดมา และมองเห็นตัวเขามาตลอดก็ไม่แปลกอะไร) และก็พยายามและหาทางแก้ความเครียดที่เกิดขึ้นได้ทุกครั้ง และสำหรับ Kevin เองก็เป็นคนที่เห็นความบ้าบิ่นกล้าเสี่ยงตายที่แม้แต่พี่สาวและพี่เขย –คนในครอบครัวของเธอ- ก็ไม่เคยเห็นเสียด้วย ดังที่ตอนหนึ่งในหนังสือ Kevin ระลึกถึงสิ่งที่ได้คุยกับ Dan พี่เขยของ Molly และมีความคิดไปอีกทาง

Phoebe and Dan saw brainy Molly, the love r of children, bunnies, and ridiculous dogs. Only he seemed to understand that Molly Somerville’s veins had trouble rushing through them instead of blood.

[Dan]’d said that Molly was twenty-seven going on forty. Twenty-seven going on seven was more like it. No wonder she’d made a career as a children’s book author. She was entertaining her peer group!
(page 205)


ฉากที่ Kevin รู้ใจตัวเองและกลับไปหา Molly ก็เป็นฉากที่น่ารักอีกฉากหนึ่ง เพราะเจ้าตัวกำลังขับรถสปอร์ตด้วยความเร็วสูง และก็เริ่มรู้สึกตัวว่าความเร้าใจจากความเร็วไม่สามารถแทนที่ความเร้าใจและสนุกสนานจากการอยู่กับเธอได้ และกลับกลายเป็นกลัวความเร็วที่เกิดขึ้น เพราะความผิดพลาดที่อาจเกิดจะทำให้เขาไม่สามารถกลับไปหาเธอ

และดังนั้น ส่วนตัวมองว่าการมาพบกันของคนสองคนที่มีความต้องการและความโหยหาในสิ่งเดียวกัน และอย่างที่จะบอกต่อไปว่า “Put a creature in a cage, it gets restless; put two creatures in a cage, they get content with one another.”

หนังสืออ่านเรื่อย ๆ สนุกใช้ได้ แม้ว่าจะเริ่มเรื่องได้งง ๆ (หรือมิฉะนั้นก็เป็นคนอ่านที่งง ๆ เอง) มีฉากที่น่ารักหลายตอน (อย่างเช่น Kevin พยายามจะเล่นกับเด็กที่มาที่แคมป์ที่กลายมาเป็นรีสอร์ท เพราะไม่อยากให้เด็กเป็นแบบตัวเองในวัยเด็กที่มาที่แคมป์แล้วต้องเหงา เพราะไม่มีเพื่อนเล่นวัยเดียวกัน) อย่างไรก็ตาม สิ่งที่อ่านแล้วสะดุดที่สุดก็คือ ความสัมพันธ์ระหว่างแม่ของ Kevin ที่พยายามมาคืนดีกับลูกชาย และกับผู้ชายอีกคนที่เธอเจอระหว่างนั้น เพราะเวลาอ่านไม่ชอบแบ่งเรื่องแล้วแบ่งสมอง

ถ้าต้องให้คะแนน ให้ที่ B