Sunday, 20 January 2019

Uprooted by Naomi Novik

เอาจริง รู้จัก Naomi Novik มานานมาก แต่ก็แค่จับๆ วางๆ ที่คิโนะทุกที จนกระทั่งคุณ Montag71 แนะนำมานั่นแหละ เลยได้เวลาอ่านอย่างจริงจัง

ตอนแรกคิดว่าจะอ่านรวดเดียวจบเลย แต่พอเริ่มอ่านจริงๆ ด้วยความที่ห่าง high fantasy ภาษาอังกฤษไปนานมาก ช่วงแรกที่ช้าก็เพราะมัวดำดิ่งซาบซึ้งกับความรู้สึกคุ้นเคยที่หายไปนาน ช่วงสองบทแรกนี่ดึงความรู้สึกกลับมา แล้วหลังจากนั้น อืมม ช้าไปมากเพราะมัวแต่ละเลียดอินภาษาอังกฤษที่การบรรยายพรรณาละเมียดผสานกับจินตนาการบรรเจิดแบบที่เจอได้ใน high fantasy เท่านั้นอยู่

เนื้อเรื่องก็เป็น retelling Beauty and the Beast แต่เกิดเพราะหน้าที่และความจำเป็นมากกว่าจะเป็นเพราะความเหงา เพราะ the Dragon พ่อมดที่คอยดูแลหมู่บ้านจากทั้งภัยธรรมชาติ และสิ่งชั่วร้ายเหนือธรรมชาติจาก Woods ต้องการเด็กผู้หญิงจากหมู่บ้านไปอยู่ด้วยที่ Tower ทุกๆ 10 ปี และแม้ Agnieszka ตัวเอกในเรื่องคิดเหมือนคนอื่นในหมู่บ้านว่าเพื่อนรักของตัวเองจะไปทำหน้าที่นี้ แต่สุดท้าย คนที่ถูกเลือกไปอยู่กับพ่อมดจริงๆ ก็คือ Agnieszka เอง

ช่วงแรกความสัมพันธ์ของสองคนเป็นไปอย่างลุ่มๆ ลอนๆ เด็กสาวมีหน้าที่หลักในการทำอาหารให้พ่อมด ขณะที่พ่อมดเองก็พยายามอดทนกับการปล่อยตัวตามสบายของเจ้าตัว จนกระทั่ง the Dragon เริ่มรู้ว่า Agnieszka มีเวทย์มนต์ในตัวนั่นแหละ ที่เจ้าตัวมีหน้าที่เรียนเวทย์มนต์เพิ่มขึ้นมาด้วย

หลักๆ ช่วงแรกที่อ่านค่อนข้างขัดใจกับ Agnieszka อยู่พอสมควร เพราะนิสัยเรียบง่ายปล่อยวางเหมือนจะทำให้เจ้าตัวไม่คิดขวนขวายหรือพยายามมาก เป็นการทำหน้าที่อย่างที่เกือบจะเรียกได้ว่าขอไปที แต่เพราะเหตุร้ายที่เกิดขึ้นกับหมู่บ้านของตัวเองระหว่างที่พ่อมดไม่อยู่ก็เร่งให้เด็กสาวต้องรับรู้กับเหตุการณ์ตรงหน้า และก็เป็นจุดเปลี่ยนของการเริ่มรู้จักโต ตามแนว “A fool wisened by experiences/ hardship” เป็นภาพที่เห็นบ่อยๆ ในหนังสือ พร้อมกับการโตขึ้น และเข้าใจโลกมากขึ้นของ Agnieszka เองในทีละก้าว

ซึ่งเพราะพอหลังจากพ่อมดถูกหมาป่ากัด ก็มีโอกาสที่จะ corrupted กลายเป็นถูก Woods บงการขึ้นมา และเมื่อกลับไปที่ Tower จริงๆ Agnieszka เองก็ต้องรับมือกับการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นของพ่อมด และก็กลายเป็นว่า จากการสุ่มหาหนังสือและคู่มือทั้งหลายที่ช่วยให้พ่อมดหาย ก็ทำให้ทั้งสองคนรู้ว่าตัว Agnieszka เองมีเวทย์มนต์ที่แข็งแกร่ง แต่เป็นแบบ rustic คือเกิดโดยธรรมชาติและใช้ด้วยสัญชาตญาณและความรู้สึกส่วนตัว แทนที่จะเป็นหลักการหรือการใช้ทฤษฏีพิสูจน์อย่างที่พ่อมดทำ และดังนั้นการเรียนเวทย์มนต์ของ Agnieszka ผสานกับการทดลองของ Dragon ก็กลายเป็นกิจวัตรประจำวันของทั้งคู่ — ซึ่งในแง่หนึ่งก็เป็นการให้ทั้งสองคนที่จะใช้เวลาอยู่ร่วมกันและเริ่มทำความคุ้นเคยไปจนถึงรู้จักอีกฝ่ายขึ้นมาด้วย อย่างที่ Agnieszka ประทับใจกับความชาญฉลาด รู้จักคิด และตามหาความรู้ของพ่อมด ขณะที่ตัวพ่อมดเองก็ประหลาดใจปนหงุดหงิดกับขอบเขตศักยภาพที่ดูจะไม่สิ้นสุดของเจ้าตัว

และสิ่งที่ตามมาก็คือ การ de-myth/ humanise ความเป็นพ่อมดอันดับหนึ่งผู้ยิ่งใหญ่แห่งอาณาจักร เพราะแม้พ่อมดจะเลือกให้เด็กสาวจากหมู่บ้านมาอยู่ด้วย แต่ก็ไม่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดอะไร นอกจากการทำอาหารและทำงานบ้านเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งในแง่หนึ่ง การที่ตัวเอกมาอยู่กับพ่อมด และถูกพ่อมดเห็นความเป็นไปได้ในการใช้เวทต์มนต์ก็ทำให้สองคนนี้ได้ใช้เวลาด้วยกัน ทำให้ภาพการเป็นตำนานที่ยิ่งใหญ่ larger than life ค่อยๆ ลดลง และมีความเป็นมนุษย์ที่เริ่มจับต้องได้มากขึ้น ภายใต้หน้ากากเย็นชา ขี้โมโห พ่อมดหรือ Sarken ตามชื่อเจ้าตัว ก็มีมิติด้านอื่นๆ เสียใจ ดีใจ ประหลาดใจ มีความชอบ ไม่ชอบ ที่เริ่มค้นพบได้มากขึ้นมา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในแง่หนึ่ง การโดดเดี่ยวตัวเองของพ่อมดก็เกิดขึ้นเพราะประสบการณ์ในอดีตที่ผิดพลาด และการไม่ไว้วางใจสังคมมนุษย์เหมือนกัน อาจจะมองอย่าง romanticise แต่ในแง่หนึ่งก็เหมือนว่า การลอยตัวไม่ยุ่งกับใครทำให้พ่อมดไม่ต้องมาวุ่นวายกับความรู้สึกและความสัมพันธ์ของคนที่รับมือยากเกินกว่าการออกไปทำหน้าที่ของตัวเองในฐานะพ่อมด (พูดง่ายๆ ว่า Sarken ไอคิวดี อีคิวล้มเหลวเป็นเด็กเนิร์ดสินะ ฮือฮือ)

จุดพลิกผันในเรื่องความสัมพันธ์ของทั้งคู่เกิดเมื่อทั้งคู่ทดลอง illusion spell ร่วมกัน เวทย์มนต์ที่ซับซ้อนเป็นพิธีการบอกลักษณะนิสัยบุคลิกของพ่อมด ขณะที่การใช้จินตนาการและ make-belief ก็ตรงกับบุคลิกของ Agnieszka เช่นกัน และพอสร้างมนต์ด้วยกัน กลายเป็นความแตกต่างของทั้งคู่มาเสริมอีกฝ่ายได้พอดี ได้ illusion spell ที่เหมือนจริง และเกือบจะกลายเป็นจริง และขณะเดียวกันก็ทำให้ความรู้สึก ตัวคน และเวทย์มนต์ของอีกคนที่ประสานและทับซ้อนกับตัวเองได้พอเหมาะจนสร้างความเชื่อมโยงและความรู้สึกระหว่างกันขึ้นมา

ตามสูตรสำเร็จ ที่ magical bonds จะทำให้เกิด personal bonds และที่สำคัญก็กลายเป็นตัวกระตุ้นเร่ง romance ในเรื่อง ไม่ต้องสงสัยเลยว่าลุ้นมาก เห็นการ share magic ก็รู้และลุ้นแล้ววว แต่ส่วนตัวชอบเวลาเกิด awareness  กับ nearness ระหว่างกันมากกว่าจะก้าวไปถึงการเกิดความสัมพันธ์ทางกาย — ซึ่งความยับยั้งชั่งใจที่เกิดขึ้นได้ทันเวลา ก็จะไปเป็นตัว burn ให้เกิด slow romance หลังจากที่ถูก build ด้วยความเชื่อมโยงทางเวทย์มนต์ของทั้งคู่

ซึ่งส่วนตัวหลงรัก magical bonds เช่นนี้มาก และในเล่ม Uprooted magical bonds นี้ทำให้การเชื่อมกันช่วยให้เวทย์ที่ร่ายออกมาแข็งแกร่งและมีประสิทธิภาพดีกว่าเดิมทุกครั้ง และที่สำคัญก็เชื่อมโยงทั้งคู่ได้แม้ในเวลาที่ห่างไกลกันได้ อย่างที่เวลา Agnieszka คิดถึง Sarken ขึ้นมาก็ติดต่อเจ้าตัวได้อยู่หลายครั้ง แม้ว่าเหล่าพ่อมดแม่มดทั้งหลายจะเคยบอกว่าการสื่อสารระยะไกลเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ก็ตาม

ไม่ได้เห็นความรู้สึกของตัว Sarken เท่าไหร่ (สิ่งหนึ่งที่ไม่ชอบ fantasy บางครั้งก็คือการเล่าผ่านมุมมองของตัวเอกเท่านั้น เพราะความรู้สึกของอีกฝ่ายก็ต้องทำผ่านการตีความและจินตนาการต่อได้เท่านั้น เป็นความละเมียดที่ต้องตีความผ่านตัวอักษร และผ่านมิติคลุมเครือ แต่ขณะเดียวกัน ก็ทำให้ไม่ชัดเจน เวลาอยากได้ความแน่ชัดเหมือนกัน) แต่สำหรับตัวเอก magical bonds ช่วยให้ Agnieszka รับรู้ถึงความเข้าคู่และประสานลงตัวกันได้ อย่างเช่นที่แม้จะไปร่ายเวทย์กับคนอื่นก็ไม่เกิดความเชื่อมโยงหรือการลงตัวอย่างที่เป็นกับ Sarken ได้ — สูตรนี้ก็ชอบเช่นเดียวกัน มองว่า เพราะเป็นการคุ้นเคยกับการอยู่ร่วมและเริ่มต้นเวทย์กับใครคนหนึ่งก็ได้ แต่เรารู้กันว่าการสลับคู่เปลี่ยนคนทำให้เห็นความลงตัวที่มีได้แค่กับใครคนเดียวเท่านั้น

มีความรู้สึกว่านิสัยยอมเสี่ยงและกล้าเชื่อของ Agnieszka ปรับสมดุลกับนิสัยชอบความแน่นอน และความแน่ชัดของ Sarken ในแง่ที่ตัวตนและนิสัยของทั้งคู่มาช่วยเสริมกันและกันได้ดี เพราะ Sarken ทำให้ตัว Agnieszka แน่นขึ้น และ Agnieszka ก็ทำให้ Sarken คลายขึ้นเหมือนกัน โดยเฉพาะที่ทำให้เกิดการยอมอะลุ้มอล่วยแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เหมือนจะไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่ถ้าดูว่าเจ้าตัวเข้มงวดจริงจังกับวิธีการและหลักการส่วนตัวมากขนาดไหน ก็ถือได้ว่าเป็นการตามใจและยอมให้   Agnieszka ในรูปแบบของ Sarken แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการช่วย Kasia ทั้งที่เจ้าตัวคิดว่าเป็นไปไม่ได้ การให้ยืมพลังหลายๆ ครั้ง หรือแม้แต่การยอมเข้าไปในป่าครั้งสุดท้ายด้วยกัน

อย่างที่บอกว่า Sarken โดดเดี่ยวเย็นชา และดูขี้หงุดหงิดขี้โมโห จนดูไม่น่ารัก แต่พอมองข้ามเปลือกนอกไป แอบหลงรักความมีเกียรติและเชื่อในศักดิ์ศรีตัวเองของพ่อมดมาก เพราะในฐานะพ่อมดอันดับหนึ่ง เจ้าตัวเลือกที่จะอยู่ในเมืองหลวง มีชีวิตหรูหราอยู่ข้างพระราชาก็ได้ แต่กลับเลือกที่จะปลีกวิเวกคอยจับตามอง evil Woods อยู่ในชนบทห่างไกล แม้ว่าจุดเริ่มต้นจะเป็นจากการพ่ายแพ้อย่างที่เจ้าตัวไม่เคยมีก็ตาม แต่ก็แสดงให้เห็นความไม่ยึดติดกับภายนอกและการเคารพตัวเองของพ่อมด (แต่ในแง่หนึ่ง ก็เพราะสิ่งที่พ่อมดวางไว้เหนือที่สุด คือความสามารถของตัวเอง มากกว่าการชื่นชมและสายตายอมรับจากคนอื่นก็ได้)

เพราะการแสวงหาของ Sarken ก็คือความรู้และความเข้าใจเวทย์มนต์ และดังนั้น เจ้าตัวก็ยอมที่จะทิ้งทุกอย่างเพื่อ personal quest ตัวนี้ อย่างที่บอกว่า ละทิ้งการสร้างความสัมพันธ์กับคนอื่น อย่างเช่นการสู้กับ Woods ในเรื่องก็ทำทางอ้อมผ่าน bond ที่เหล่าเด็กสาวจากหมู่บ้านมีกับป่ามากกว่าจะผูกมัดผูกพันกับหมู่บ้านเสียเอง เก็บตัว ไม่สนใจ ไม่เป็นส่วนตัวของอะไร อย่างที่ Agnieszka เคยสังเกตว่าพ่อมดคอยดูแลหมู่บ้าน คนในหมู่บ้าน แต่ไม่เคยแม้แต่จะมาร่วมงานฉลอง

ในแง่หนึ่งก็ชอบและไม่ชอบตอนจบที่ Sarken มาที่งานฉลองเพื่อที่จะกลับมาหา Agnieszka เพราะว่าหลังจากที่โค่นราชินีตัวร้ายแห่งป่าได้ ตัวพ่อมดหนีกลับไปที่เมืองหลวง โดยที่บอกว่าจะไปแก้ปัญหาและความวุ่นวายที่เกิดขึ้นทั้งหลาย แต่ในแง่หนึ่งก็เป็นการวิ่งหนีความสัมพันธ์ตัวเองกับ Agnieszka ด้วย และเมื่อปรากฎตัวที่งานเลี้ยง ถึงแม้เจ้าตัวจะออกปากว่า มาเก็บภาษี แต่ก็รู้กันว่าจริงๆ แล้ว Sarken กลับมาหา Agnieszka เอง น่ารักในแง่ที่ต้องดูเป็นนัยผ่านการตีความที่ตัว Sarken ทำสิ่งที่ตัวเองพยายามเลี่ยงมาตลอดอย่างการมาที่งาน ปากแข็ง และพยายามหาเหตุผลมาบอกตัวเอง ชอบที่การมาปรากฏตัวในชุดเต็มยศ ทำให้เห็นภาพ suitor มากกว่า master อย่างที่เคยเป็น แต่พอกำลังดื่มด่ำ หนังสือตัดจบที่ Agnieszka คว้ามือ Sarken แล้วบอกว่าจะหาไปหาแม่

อืม เป็นการจบแบบไม่จบให้คนอ่านต่อยอดเอง เพราะว่าในที่สุดก็เป็นการเชื่อมโยงถึงกันแล้ว // แบบนี้ก็ดีอยู่ แต่อยากให้เห็นภาพ epilogue ว่าสุดท้ายทั้งคู่ตัดสินใจอย่างไร เพราะถ้าคิดตามต่อ จะเป็นว่า กลับไปอยู่ที่ tower ด้วยกัน แต่ในฐานะเสมอกัน และก็คงมีสภาพที่เจ้าตัวเข้าไปฟื้นฟูป่าในแต่ละวัน และกลับมาหา Sarken ที่ทดลองเวทย์ง่วนอยู่คนเดียวในตอนเย็น หรืออาจเป็นว่าบางวัน Sarken ก็ตามเข้าไปดูสภาพป่าด้วย เป็นความสัมพันธ์เรียบเงียบอาจจะเป็นกึ่ง companion ที่รู้ใจ เข้าใจกัน และในขนาดเดียวกันก็มีความสามารถและศักยภาพเสมอตัวกันด้วย — แต่ก็รู้ว่า ถ้าเกิดมี epilogue หรือมีต่อ มันก็เป็นการปิดตายความคิดของคนอ่าน เปิดเป็นกึ่งจบกึ่งไม่จบจะงดงาม และทิ้งท้ายลงตัวในใจคนอ่านมากกว่า

ทั้งนี้ ตอนแรกไม่ชอบที่ Sarken หนีไป แล้ว Agnieszka เข้าไปจัดการกับป่าเลย แต่พอเวลาผ่านไป ในแง่หนึ่งก็มองว่าการห่างกัน เป็นการให้แต่ละคนได้ใช้เวลาคิด ให้ความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นได้มีระยะเวลาตกผลึก โดยเฉพาะไม่ใช่การที่ Sarken ต้องมารับผิดชอบ Agnieszka หลังความสัมพันธ์ชั่วคืนกัน การออกห่างและกลับมายิ่งเป็นการย้ำว่าอีกฝ่ายมีความสำคัญในชีวิตของตัวเองเพียงไร และสำหรับฝ่ายหญิง การที่ได้ทำตามใจและสัญชาตญาณตัวเองในการเร่ร่อนแก้ปัญหาในป่าก็เหมือนกับการให้เวลาเจ้าตัวได้เติบโต และรู้จักพลังและจิตใจตัวเอง มีโอกาสได้เลือกตัดสินใจมากกว่าจะเป็นเพราะมีคนมาบอกหรือสั่ง หริอแม้แต่ถูกสถานการณ์พาไปอย่างที่เป็นมาตลอด ก็นับว่าการเลือกเช่นนี้ของทั้งคู่เป็นนัยยะ feminism แบบอ่อนๆ ที่สัมผัสได้

แม้ว่าใจหนึ่งก็มองว่า การเลือกและตัวเลือกของ Agnieszka เป็นเหมือนเพราะผิดหวังลึกๆ จากการตัดสินใจของ Sarken สงสัยว่าเจ้าตัวมีโอกาสจะกลับไปอยู่กับครอบครัวเหมือนเดิมได้ไหม ในฐนะแม่มด หรือว่าในแง่หนึ่งการออกมาแล้วก็คือออกมาเลย เปลี่ยนแปลงกว่าที่จะกลับไปอยู่ที่เดิมได้? แต่ส่วนตัว แม่และครอบครัวก็คงยอมรับ Agnieszka เหมือนเดิม แต่ก็ในมีแง่การเติบโตที่เด็กที่ก้าวเท้าออกมาจากบ้าน และเริ่มรู้จักตัวเอง ไม่สามารถย้อนกลับไปอยู่กับที่บ้านเหมือนเดิมได้

ในหนังสือสิ่งที่ชอบมากที่สุดอีกอย่าง ก็คือเรื่องเล่าเกี่ยวกับ Kasia เพื่อนรักของ Agnieszka ที่ถูกเลี้ยงมาให้เป็นอยู่กับ Sarken ซึ่งในแง่หนึ่ง ความคาดหวังและความพลิกผันที่เกิดขึ้นก็ทำให้เจ้าตัวต้องเผชิญหน้ากับความลำบากในรูปแบบของตัวเองเหมือนกัน โดยเฉพาะเมื่อเป็นคนที่ถูกทิ้งเอาไว้ การถูกจับไปและทำให้เปลี่ยนแปลงเหมือนเป็นเรื่องร้ายแรง แต่ส่วนตัวมองว่าเป็นโอกาสด้วยซ้ำ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดช่วยให้เพิ่มความสามารถได้มากขึ้น และสุดท้าย เจ้าตัวก็หาที่อยู่และเป้าหมายของตัวเองได้ —จุดนี้ลึกซึ้งและมีความหมายมากกว่าการให้ Agnieszka หาชีวิตตัวเองเจอเสียอีก โดยเฉพาะเมื่อคนแรกเป็นแค่ตัวประกอบเสริมในเรื่อง และมีหนทางไปแตกต่างจากชีวิตแบบแม่มดที่คาดการณ์และเห็นรูปแบบได้

ส่วนหนึ่งที่รู้สึกติดลบบ้างก็คือ ตัวร้าย ในที่แง่ที่ตามรูปแบบ high fantasy ว่าสถานการณ์ลำบาก และปัญหา เกิดมาจากสิ่งที่ครอบคลุมไม่ได้ และมีอำนาจเหนือกว่าตัวเอง โดยเฉพาะในแง่ authority และในที่นี้ ก็มาในรูปเจ้าชายที่ทำตามใจตัวเอง ตั้งแต่เห็นภาพวิธีคิดของ Marek และการพาทหารไปตายในป่าครั้งแรก ก็รู้สึกขัดใจที่มีอำนาจการตัดสินใจเหนือทุกคน แม้ว่าการเลือกของ Marek จะเป็นสิ่งที่ไร้สาระ และมองด้านเดียว และที่สำคัญ การคิดและการกระทำของ Marek ก็มีผลต่อทุกคนอย่างใหญ่หลวงถึงใกล้จบเสียด้วย โดยเฉพาะกำลังที่ท่วมท้นที่มาจากตำแหน่งที่มา มากกว่าจะมาจากความสามารถก็ยิ่งทำให้ขัดใจ เมื่อยิ่งเปรียบกับกำลังอันน้อยนิดของฝ่ายตั้งรับ ก็รู้อยู่ว่าลักษณะของศัตรูที่มาจากใจ โดยเฉพาะจากใจคนนี่ น่ากลัวและสมจริงกว่าภัยจากปีศาจทั้งหลายเยอะ

แต่ในแง่หนึ่งก็อดหงุดหงิดไม่ได้ที่ฝ่ายตัวเอกทำอะไรไม่ได้เลย เป็นได้แค่ตั้งรับอย่างเดียว ซึ่งช่วงที่อยู่ในเมืองก็เป็นช่วงที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือ ทำอะไรไม่ได้ด้วย แม้จะรู้ว่าเขียนให้เห็นภาพของ Agnieszka ที่ต้องปรับตัวเข้าหาสภาพแวดล้อมใหม่ และขึ้นอยู่กับตัวละครสำคัญในสภาพแวดล้อมนั้นก็ตาม ยิ่งประกอบกับที่เจ้าตัวล้มเหลวในการมองเหตุการณ์ และใช้ประโยชน์จากสิ่งเบื้องหน้าก็เลยยิ่งไม่พอใจ แต่ทั้งนี้ ก็รู้สึกว่าช่วงที่ห่าง Sarken ไปค่อนข้างนานกว่าที่พอใจจะอ่านเจอ เพราะชอบศักยภาพของทั้งสองคนเวลาที่อยู่ร่วมกันและสร้างความเป็นไปได้ทางมนตราทั้งหลายที่เกินกว่าที่พ่อมดทั้งหลายจะจินตนาการได้  // กับความคะนึงหา เพราะว่าอยู่ด้วยกันตลอดในบริบทที่มีกันสองคน พอห่างกันก็อดนึกถึงไม่ได้ ในแง่ที่ขาดคู่คิด คนให้คำปรึกษา และคนที่เข้าใจและรู้จักตัวเอง ถึงขั้นที่นั่งสังเกตถึงการออกเสียงชื่อ Sarken เลยด้วยซ้ำ เป็นอารมณ์ผูกพันเหมือนกับตกหลุมรัก

กับไม่ชอบที่สุดท้ายพ่อมดอันดับสองก็ไม่ต้องรับผิดชอบกับสิ่งที่ตัวเองทำ เพราะแง่หนึ่งรู้สึกว่า Marek กลายเป็นตัวร้ายจากการคิดอะไรด้านเดียว และมองเป้าหมายที่ตัวเองต้องการโดยไม่สนใจอย่างอื่น เป็นการ playing hero และเป็น a child before a prince อย่างที่ถูกตำหนิไว้ แต่ในแง่หนึ่ง ก็เพราะตัวเองเชื่อในสิ่งที่ตัวเองกำหนดทำอยู่ว่าเป็นสิ่งที่ดีถูกต้อง ขณะที่  the Falcon เพราะสนองความต้องการอำนาจของตัวเอง ironic ที่ Marek ตายจากสิ่งที่ตัวเองคิดจะปกป้อง และก็ ironic ที่ the Falcon ไม่ต้องรับผิดชอบอะไรเลย

ติดใจเรื่องต้นกำเนิดของป่าชั่วร้าย และวิธีการแก้อยู่มาก และในที่สุดก็ดีใจที่ในช่วง 3 บทสุดท้าย คำตอบเหล่านี้ถูกเรียบเรียงมาให้แล้ว ชอบที่จุดเริ่มต้นของทุกอย่างเป็นมนุษย์ที่ทำให้เหล่าต้นไม้ถูก twisted ไป ในแง่ที่กลับจากผู้กระทำเป็นผู้ถูกกระทำ และให้เห็นที่มาที่ไปชัดเจน และชอบที่การก้ปัญหาเป็นการใช้ใจและความรู้สึกไปแก้มากกว่าจะใช้กำลังและความก้าวร้าวอย่างที่เคยเป็น

ในแง่หนึ่ง Uprooted ก็เหมือนหนังสือ high fantasy ผู้หญิงที่เริ่มต้นจากตัวเอกที่กำลังเติบโต แสวงหาที่ของตัวเองในสังคมและโลก ส่วนตัวเอง รู้สึกว่าตัวเองมีอยู่ประเภทก็คือ 1.wood wanderers พวกที่มีความสามารถและความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องเหนือธรรมชาติที่อธิบายไม่ได้อยู่ และก็มักจะเป็นพวกที่ชอบเดินเข้าไปในป่า และมีประสบการณ์เหนือจริงที่คนทั่วไปไม่เข้าใจอยู่ กับพวก 2. avid learners พวกที่มีทักษะทางวิชาการ ความรู้แน่น และเรียนรู้เข้าใจโลกอย่างที่แม้แต่ตัวพระเอกที่มีความสามารถหลายหลากก็ต้องหันมาสนใจ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นแบบไหนก็ทำให้พระเอกของเราต้องหยุดสนใจ อยากรู้จักทำความเข้าใจ

ซึ่งตัวพระเอกก็ต้องมาเก่ง ออกแนว omnipotent แต่แนวเย็นชา รวมไปถึงขี้หงุดหงิด และชอบประชดประชัน ถ้าไม่เป็นแนว masters/ mentors ไม่ว่าจะทั้งทางตรงและทางอ้อม ก็ต้องไปเป็น enemies ไปเลย และด้วยสถานการณ์ที่บังคับให้ทั้งคู่ต้องมีปฎิสัมพันธ์กัน ฝ่ายหญิงหลากใจกับความสามารถและบุคลิกนิ่งขรึมของผู้ชาย ขณะที่ฝ่ายชายสะดุดใจกับความสามารถแฝงและ (ในหลายครั้ง) ความเห็นใจของผู้หญิง เป็นอารมณ์ He’s reliable. She’s refreshing. จนค่อยๆ ถูกใจและรักกันเงียบๆ ในที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้ามีเวทย์มนต์มาเป็นตัวเชื่อมสายสัมพันธ์ และก็ต้องเกิดช่วงที่มี nearness/ awareness จนเกือบจะก้าวขั้นไปถึงความสัมพันธ์ทางกายกัน ซึ่งคราวนี้คนที่จะหยุดก็คือผู้ชาย (ในแง่ที่ว่าไม่ได้ใช้ประโยชน์จากความไร้เดียงสาของฝ่ายหญิง) แต่เพราะ slow build ตัวนี้ก็ทำให้เกิดเป็น slow romance ที่จะต้องตกตะกอนจนถึงคืนก่อนวันสำคัญสักคืนที่ผู้หญิงจะเป็นฝ่ายเข้าหาผู้ชายเอง (เพื่อเป็นนัยยะว่าผู้หญิงได้เลือก และผู้ชายไม่ได้บังคับ/ หลอกล่อ)

ส่วนในเชิงปัญหา มักจะเป็นสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ เป็นตัวแปรภายนอกที่มีอำนาจ authority สูง ทั้งจากโบสถ์/ ขุนนาง หรือกษัตริย์ที่มักจะมีปัญหามองเหตุการณ์ไม่ตก คิดแบบล้าหลัง ไปถึงอคติครอบงำจิตใจ และตัวละครเหล่านี้ก็ทำให้ปัญหาหรือภัยที่เกิดยิ่งลุกลามรับมือหนักขึ้นไปเรื่อยๆ ด้วย // แต่ถ้าไม่คิดอะไรมาก พวกนี้ก็เป็นพวกที่ต้องรับผลกรรมจากการกระทำก่อนใครอยู่ดี

อย่างที่ชื่อหนังสือบอกว่าคือ uprooted ดูว่าต้องจากที่อยู่ พรากจากครอบครัวและคนรู้จักเพื่อมาอยู่กับพ่อมดในหอคอย แต่จริงๆ สิ่งที่เกิดก็คือ how to pluck a sheep from her herd and turn her to something beyond. ในแง่ที่ว่า ถ้าไม่จากหมู่บ้านมา ก็คงจะต้องอยู่อย่างนั้น ไม่อาจค้นพบตัวเองตลอดไป แต่การมาเจอพ่อมด เป็นการทำให้ตัวเองก้าวหน้าและใช้ศักยภาพที่ตัวเองไม่รู้ออกมา เหมือนที่บอกว่าการศึกษาเปลี่ยนคน ในที่นี่ การมาอยู่กับพ่อมด และได้เรียนรู้เวทย์มนต์ก็ทำให้เจ้าตัวต่างไปจากเดิมเปลี่ยนไปเหมือนกัน เพราะอย่างที่เจ้าตัวบอกว่าไม่เคยคิดว่าจะได้รับการเคารพและการปฏิบัติอย่างนอบน้อมใส่ (แม้ว่าจะอยู่กับคนในหมู่บ้านที่เคยรู้จักกัน) และไม่คิดว่าจะได้อยู่ในกลุ่มของเจ้าชายและพ่อมด

เอาจริงแล้ว การได้อ่าน Uprooted นอกเหนือจากจะได้อ่าน high fantasy เกรดเออย่างที่ไม่ได้อ่านมานานแล้ว ก็ทำให้จดจำความรู้สึกอิ่มเอมจากจินตนาการละเมียดและภาษารุ่มรวยจากหนังสือประเภทนี้ขึ้นมา และสิ่งหนึ่งที่รู้ได้คราวนี้ก็คือ แม้ว่าจะเบื่อรูปแบบเดิมที่เจอในหนังสือ genre นี้ แต่ว่ารายละเอียดต่างหากที่ทำให้หนังสือแต่ละเล่มแตกต่างกัน ซึ่งเพราะครั้งหนึ่งมองหาความเป็นรูปแบบใหญ่มากเกินไปจนหลงลืมไปว่าสิ่งที่ทำให้อ่านสนุกและมีสีสันน่าประทับใจก็คือ รายละเอียดปลีกย่อยเฉพาะตามทางต่างหาก และดังนั้น ถ้าสนใจความงามตามรายทางได้ ก็เพียงพอที่จะเห็นค่าหนังสือหมวดนี้ได้เต็มที่อีกครั้ง

ก็รัก genre นี้ ในฐานะจินตนาการและการตีความต่อยอดเหมือนเดิม

ถ้าเล่าเรื่องย่ออยากจะเล่าว่า The Dragon thought he rescued a peasant girl from her connection with the woods, little did he know that when rescuing, he was also the one rescued. มาก อืมม อย่างอื่นยังคิดไม่ออก  เพราะว่าแอบเสียนิสัยที่มอง Uprooted ในฐานะรูปแบบและเนื้อหาไปพร้อมกัน ส่วนตัวให้ A-/A

ส่วนที่ชอบที่สุด ก็คือช่วงที่สองคนร่ายเวทย์มนต์ด้วยกัน ชอบ connection กับ bond ที่เกิดขึ้นไปพร้อมกับ awareness ที่อีกฝ่ายเริ่มเห็นอีกคนขึ้นมา ช่วงรับรู้ดูทั้งเงอะงะแล้วก็งดงามไปพร้อมกันเลย ชอบที่การใช้เวทย์มนต์ของแต่ละคนมีรูปแบบและวิธีการของตัวเอง อย่างที่ตัว Agnieszka บอกว่าร่ายมนต์ด้วยการร้องและฮัมจังหวะไปผสมกับการคิดถึงนิทานตำนานพื้นบ้านและใส่ความเชื่อความหวังลงไปในสิ่งที่อยู่ในมือ ขณะที่ Sarken ต้องการความแม่นยำ และภาษาจริงจัง

กับฉากที่ Sarken มาที่งานเลี้ยงที่บอกว่า ครั้งหนึ่งเคยคิดว่าท่าทีที่เห็นคือความไม่พอใจ แต่จริงๆ แล้วก็คือ ความเขินอาย  — รักที่การรู้จัก และใส่ใจใครอีกคนทำให้เราเห็นความเป็นจริงที่ซ่อนแฝงไว้ได้

แต่ก็ขำคืนที่ Agnieszka เข้าไปหา Sarken และตัว Sarken ดูตกใจจนค้างไปเหมือนกัน  อย่างที่บอกว่า เจ้าตัวมีหน้ากากขี้โมโหและเฉยชา มาปิดความเปราะบางและความเดียวดายในแบบของตัวเองไว้ (และพอ Agnieszka บึ้งถามว่าอยากให้ไปเหรอ ก็บอกว่า ไม่)

ยังคิดเพลงสองคนไม่ออก จะกลับมาใหม่ซูน (:

No comments:

Post a Comment