Sunday, 29 November 2015

Movie: Lobster

(จริง ๆ เขียน เพราะบ่นกับตัวเองอยู่)

1.
ในโลกอนาคต สังคม dystopia แห่งนี้ บังคับให้ทุกคนต้องมีคู่ และถ้าไม่มี คนโสดเหล่านี้ต้องเข้าร่วมโครงการจัดหาคู่ใน The Hotel สถานที่ ที่รัฐกำหนด โดยที่ ถ้าหาคู่ไม่ได้ภายใน 45 วัน ก็ต้องกลายเป็นสัตว์ที่ตัวเองเลือก และถูกส่งเข้าป่าไป ซึ่งความรักออกแบบไม่ได้ และยิ่งภายในสภาวะกดดัน การเลือกคู่ และพิจารณาหาคนที่ใช่ยิ่งลำบาก และจอมปลอม หลายคนเลือกที่จะมีคู่ส่งเดช เพื่อให้ไม่ต้องเป็นคนโสด และ –โดยนัย-ตาย 

การดำรงชีพในสังคม ก็เป็นไปด้วยกฎเกณฑ์แบบเดียวกัน การเดินอยู่คนเดียวตามท้องถนน เสี่ยงต่อการถูกจับกุมในข้อหาคนโสด และอาจถูกปฎิบัติไม่ต่างกับการเป็นผู้ก่อการร้ายในสมัยนี้

และหลังจากที่การมีคู่จอมปลอมไม่ได้ผล David ตัวเอกในเรื่อง ก็เลือกทางเลือกใหม่ให้ตัวเอง คือ หนีเข้าป่าไปเสียเลย แต่ในสังคมใหม่ที่เจอ บังคับให้ทุกคนเป็นโสด และการมีคู่จะถูกลงโทษหนัก หนีเสือปะจระเข้เป็นเช่นนี้เอง

2.
ทำไมชีวิตนี้ไม่มีความพอดี ไม่มีทางเลือกที่สามให้เราแล้วหรืออย่างไร? อยู่เป็นโสดก็ถูกจับส่งเข้า The Hotel จะอยู่ในป่าก็มีความรักไม่ได้เสียอีก แต่ก็นั่นแหละ? มนุษย์เป็นสัตว์ที่หาความยุ่งยาก (หรือพูดในแง่ดีก็คือ หาทางออก) ให้ตัวเองได้เสมอ เพราะในที่ ๆ ความรักเป็นสิ่งต้องห้าม ไม่ได้ถูกส่งเสริม ตัวเอกของเราก็มีความรักเข้าจนได้ 

ชอบที่ไม่ต้องพูดว่ารัก แต่ผ่านการกระทำโดยนัย เมื่อตัวเอกบอกว่า อย่าไปรับกระต่าย (อาหาร) จากคนอื่น เพราะจะเป็นหาให้เอง กลับไปเป็นสังคมดั้งเดิมที่ผู้ชายต้องล่าหาอาหารให้ผู้หญิงดีนะ

3.
หนังไม่ได้อธิบายกฏเกณฑ์ใด ๆ เอาไว้ แล้วก็เลยเปิดโอกาสให้ตั้งคำถามต่อ ถ้ามีความรัก จะหนีด้วยกันจากป่าไปเข้า The Hotel อีกครั้ง แล้วกลับไปอยู่เป็นด้วยกันในฐานะสามีภรรยาได้ไหม? แล้วถ้าทุกเมืองเป็นแบบนี้ สถานทิ่อย่าง The Hotel ก็ต้องมีทุกเมืองเลยหรือ? แล้วถ้าคนที่เป็นคู่กับเรา ไม่ได้อยู่ที่ The Hotel A แต่เป็นที่ The Hotel B ล่ะ? เรามักพูดว่าเนื้อคู่ก็ต้องหากันจนเจอ แต่อันนี้อาจจะไม่มีหวัง

4.
การจับคู่ในหนัง เลือกด้วยเกณฑ์ความเหมือนกันบางอย่าง (แล้วก็เป็นบางอย่างที่แปลก เช่น เลือดกำเดาไหล ขากระเผลก สายตาสั้น ฯลฯ) ซึ่งจริง ๆ มันใช้ได้จริงหรือ? ก็รู้ว่าตั้งให้เห็นความเพี้ยนของสังคม แต่ถ้าตาบอดไม่ต้องทำให้ตาบอดเหมือนกันก็ได้ไหม? แล้วจะป้องกันตัวกันอย่างไร เหลือไว้คนนึงดีไหม? ก็เลยขัดใจกับตอบจบพอตัว

อย่างไรก็ตาม ถ้าเจอกันใน The Hotel สภาพแวดล้อมที่ปิดเช่นนี้ ความรักที่เกิดจะเป็นความรักได้หรือ? หรือจะเป็นแค่ความรู้สึกว่ารัก ต้องรัก

5.
ไม่รู้คิดไปเองไหม หนังอเมริกันมักสื่อถึงฉากบนเตียงด้วยการจูบ และมีหรืออาจไม่มี การล้มตัวบนเตียงนอน แต่หนังฝรั่งเศส มักเป็นการเขย่านะ

6.
บทสนทนาในเรื่องแล้งมาก แต่ก็จงใจให้เห็นสภาพแห้งแล้งทางจิตใจของผู้คนใช่ไหม? แต่อาจจะซื้อมาเก็บ เพราะง่าย ๆ โง่ ๆ เอาไว้ฝึกภาษาน่าจะดี

7.
คนที่หมดเวลาใน The Hotel เลือกเป็นสัตว์ โดยไม่สนใจสภาพแวดล้อม ในป่าเขตหนาว เราเห็นอูฐ นกยูง และสัตว์เมืองร้อนอีกมาก

David ตัวเอกในเรื่อง คิดไว้ว่าจะเป็น กุ้งล็อบสเตอร์ ด้วยความที่กุ้งอายุยืนยาว และเจริญพันธุ์ได้ตลอด (ไม่นับว่าเจ้าตัวชอบกีฤาทางน้ำ) ถ้าเป็นเรา เราจะเลือกเป็นสัตว์อะไร? และด้วยเหตุผลอะไร?

Movie: The 33

1.
"Men know wealth when they understand their mind."
ไม่ค่อยเกี่ยวกัน แต่พอไปดู the 33 สภาพการแบ่งทูน่าหนึ่งกระป๋องให้ผู้ชายตัวโตๆ 30 กว่าคนกิน โดยที่ละลายกับน้ำคนละช้อนนี่ สามารถทำให้การคิดจะเปิดกระป๋องปลาทูน่าแล้วตักกินเล่นๆ นี่ เป็นความฟุ่มเฟือยโดยทันที
"เงินทองคือมายา ข้าวปลาสิของจริง" หลอนเข้ามาในหัวเลย และที่สำคัญ ไม่ต้องเป็นอาหารหรูหรา ไม่ต้องราคาแพง แต่ให้อิ่มท้อง ท้องไม่หิว และต่อชีวิตให้ดำเนินกิจกรรมต่างๆ ในแต่ละวันได้ก็ดีแล้ว

2.
ทั้งข้าวของฟุ่มเฟือย สุดท้ายในสภาวะเช่นนั้น มันต่างก็ไม่มีประโยชน์กับการต่อชีวิตเราใช่ไหม? เห็นแล้วทำให้สะท้อนคิดถึงสังคมปัจจุบันที่บริโภคนิยม วัตถุนิยมไม่มีที่สิ้นสุด ทรัพยากรจะไม่พอเลี้ยงมนุษย์ก็เพราะเหตุนี้

3.
หนังเปิดไว้หลายประเด็น แต่แปลกที่ติดใจประเด็นบนมากสุด กับอีกอย่างที่คิดคือ โลกเราขาดคนดีที่ทำหน้าที่ของตัวเองอย่างเต็มที่นะ ชอบทั้งรัฐมนตรีในเรื่องแล้วก็ทั้ง Mario คนงานอีกคน ที่ไม่ยอมถอดใจ (พอๆ กับทนายใน Bridges of Spies ที่ไม่ยอมแพ้) เราจะเลือกเดินทางที่ง่ายแต่ผิด หรือยากแต่ถูกกันนะ?

4.
คิดว่าหนังจะหนักกว่านี้ แต่เน้นการกู้ภัยช่วยเหลือแบบไม่ค่อยกดดัน ใส่ข้อมูลอีกนิดก็เกือบเป็นสารคดีได้แล้ว

5.
เห็นทุนนิยม นายทุนกดขี่เอาเปรียบคนงานเหมือง แต่ทำไมไม่เคยได้ค่าชดเชยใดๆ?

6.
ถ้าสังคมไม่นำรัฐ คนงานเหมืองคงตายจริงๆ

7.
เหมืองถล่มกำลังจะตายยังแบ่งเขาแบ่งเรา การดูถูกคนอื่นทำให้ตัวเองรู้สึกดีขึ้นจริงหรือ?

Monday, 9 November 2015

Bridges of Spies

“Bridges of Spies = a good story of a good man in a bad time of bad attitude.”

ดีใจที่หนังจบออกมาบวกกว่าที่คิด และก็ทำให้คิดถึงสงครามเย็นในฐานะสภาพสังคมและกรอบความคิดที่เป็นมากกว่าเนื้อหาที่ได้เรียนในหนังสือเรียน เรารู้ว่าเกิดการแบ่งแยกทางอุดมการณ์ของขั้วมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา และสหภาพโซเวียต และความตึงเครียดนั้นก็ส่งผลถึงโลกทั้งโลก และถึงแม้จะเรียนเจาะลึกตอนมหาวิทยาลัย แต่เราเด็กเกินไปที่จะเห็นผลลัพธ์ของมันจริง ๆ
หนังสะท้อนความตึงเครียดนั้นออกมาชัดเจน และก็ทำให้ได้ข้อคิดหลายอย่าง ได้เห็นคนดีที่ทำตามหน้าที่ และทำเพราะต้องการทำสิ่งที่ถูกต้อง กับทำให้ตั้งคำถามว่า ถ้าในสมัยนี้ที่สังคมมีบทบาทนำรัฐ การช่วยเหลือเด็กนักศึกษาในเรื่องที่อยู่ผิดที่ผิดเวลาจะกลายเป็นเรื่องเร่งด่วนมากกว่าปล่อยตายไหม? บางทีคำตอบเรื่องนี้ออกจะชัดใน The 33 นะ (ถ้าปล่อยให้ตาย ขณะที่เป็นประเด็นที่ทั้งโลกจับตามองคงจะถูกประนาม)
ปล. สงครามเย็นคงไม่มีผลอะไรกับสังคมสมัยนี้ที่เศรษฐกิจและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมาแทนที่อุดมการณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุดมการณ์ทางการเมือง

Good movies always make me think long and hard long after watching them. And yes, Bridges of Spies is definitely one of them. (Along with Terminator Genisys for this year actually) It has reshaped my thoughts to see the Cold War period as reality of life, not just facts read in textbooks. What can I say? We are somewhat too young to live in and get affected by the era.
I see a good man who is determined to do his job not just readily but perfectly. And when read that he helped President Kennedy negotiate with President Castro after the invasion of Bay of Pigs, I wondered about another scenario that President Kennedy lived and ‘theoretically’ arranged grander and more peaceful, and much earlier peace negotiation with the USSR.
During the time State led Society, it would be easier to ignore a boy or two, but then? In this era, I bet Society will take a matter in its hand .. as we will see it in the 33.